27/6/51

สวยดุ

ในบทนี้ Bryson เขียนเกี่ยวกับภูเขาไฟ หลายท่านไม่ทราบว่าภูเขาไฟนั้นมี่อยู่สองประเภท ประเภทแรกเป็นแบบที่เราคุ้นเคยกัน เป็นแบบที่มีโคน เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งโคนนั้นเป็นการรวมตัวกันของแม็กมาที่ประทุออกมา ส่วนแบบที่สองเป็นแบบที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยกัน เป็นแบบที่มีการประทุอย่างรุนแรงของแม็กมา ทำให้ไม่เกิดเป็นโคน เพราะแม็กมากระจายตัวออกไปไกลตอนที่ประทุออกมา แต่จะเห็นเป็นแอ่ง และข้างใต้แอ่งจะมีปล่องแม็กมา อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเป็นแบบที่สองนี้ กินพื้นที่ใหญ่มาก เชื่อว่าในอดีตที่เกิดการระเบิดขึ้นทำให้เกิดหลุมใหญ่กว้างกว่า 65 กิโลเมตร Bryson เรียกภูเขาไฟที่ระเบิดอย่างรุนแรงนี้ว่าซูเปอร์ภูเขาไฟ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าบริเวณซูเปอร์ภูเขาไฟนั้นมีความสวยงามมาก แต่เบื่องหลังความสวยงามนั้นแฝงไปด้วยความอันตรายอย่างมาก Bill McGuire คากว่าถ้าเยลโลว์สโตนระเบิดขึ้น เราจะไม่สามารถเข้าไปได้ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร เดคคานแทร็ปในอินเดียก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มันระเบิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีก่อน และเราเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ แม้ว่าการระเบิดจะรุนแรงมากแต่โชคดีว่ามันไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

ไม่ได้มีแต่เยลโลว์สโตนและเดคคานแทร็ปเท่านั้นที่เป็นซูเปอร์ภูเขาไฟ แต่ยังมีอีกหลายแห่ง แต่มักอยู่ใต้มหาสมุทร จริงๆ แล้วเกาะหลายๆ แห่ง เช่น ไอซ์แลนด์ ฮาวาย อะซอเรซ ฯลฯ ล้วนเกิดจากการระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟทั้งสิ้น

การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 1883 ของภูเขาไฟการากาตัวในอินโดนีเซีย ทำให้เกิดเสียงสะท้อนรอบโลกถึงเก้าวัน ถ้าเปรียบให้การระเบิดครั้งนี้มีขนาดเท่าลูกกอล์ฟแล้วละก็ การระเบิดของเยลโลว์สโตนครั้งที่ใหญ่ที่สุดจะเปรียบได้กับทรงกลมขนาดเท่ามนุษย์เลยทีเดียว

ผลกระทบไม่ได้มีแค่แรงระเบิดเท่านั้นแต่การระเบิดยังทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศอีกด้วย ภูเขาไฟที่ทะเลสาบโทบาในอินโดนีเซีย (ผมเคยไปมาด้วย สวยมาก) ทำให้เกิดฤดูหนาวภูเขาไฟอย่างน้อย 6 ปี ทำให้พืชและสัตว์มากมายสูญพันธุ์ เชื่อกันว่าการระเบิดทำให้มนุษย์ลดจำนวนลงเหลือประมาณ 2,000 ถึง 3,000 คนเท่านั้น

ปัญหาอย่างหนึ่งคือเราไม่สามารถทำนายได้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟเหล่านี้ ในเยลโลว์สโตนนั้นเกิดการยกตัวขึ้นสูงกว่าหนึ่งเมตรในปี 1984 และยุบตัวลง 20 เซนติเมตรในปีถัดมา สาเหตุเพราะมีการเคลื่อนที่ของเม็กมาใต้ดิน เม็กมาเหล่านี้อาจจะปะทุออกมาเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวเลย ผู้ดูแลอุทยานกล่าวว่า โดยทั่วไปแผ่นดินไหวอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภูเขาไฟกำลังจะระเบิดได้ แต่ที่เยลโลว์สโตนมีแผ่นดินไหวบ่อยมาก เฉลี่ยแล้วปีละเป็นร้อยๆ ครั้ง แต่ส่วนมากไม่สามารถรู้สึกได้ ส่วนการพุ่งของน้ำพุร้อนก็เช่นกันมันเปลี่ยนแปลงบ่อยมากจนไม่สามารถทำนายอะไรได้เลย

แม้ว่าในยุคปัจจุบันเรายังไม่เคยเห็นการระเบิดที่รุนแรงของเยลโลว์สโตนแต่ก็เคยเกิดเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนมาแล้ว ในปี 1959 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ทำให้ภูเขาด้านหนึ่งพังลงมาเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 28 คน และยังเคยเกิดเหตุที่อยู่ดีๆ น้ำพุร้อนพุ่งออกมาในที่ที่ไม่เคยมีการพุ่งมาก่อน มีเศษหิน ดิน และน้ำร้อนยิ่งยวด (Superheated steam) พุ่งออกมาที่ความดันสูง ทำให้เกิดหลุมขนาด 5 เมตรขึ้น โชคดีที่คราวนั้นไม่มีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น แต่เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้อีก ครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นในที่ที่มีผู้คนอยู่ และอาจรุนแรงกว่านี้มากก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในบริเวณภูเขาไฟที่มีอุณหภูมิสูงกลับมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ก่อนหน้าปี 1965 เราเชื่อว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถอาศัยอยู่ที่อุณหภูมิเกิน 50 องศาเซลเซียสได้ แต่ในปีนั้นมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตพวกเอกทรีโมไฟลส์ เช่น Sulpholobus acidocaldarius และ Thermophilus aquaticus ในบ่อน้ำบริเวณภูเขาไฟซึ่งร้อนมากและมีความเป็นกรดสูง แต่ว่านั่นก็ไม่ใช่ที่สุด ยังมีสิ่งมีชีวิตพวกไฮเปอร์เทอร์โมไฟล์ เช่น Pyrolobus fumarii เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามปล่องภูเขาไฟ ซึ่งสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 113 เซลเซียส

ไม่มีความคิดเห็น: