11/8/52

เมล็ดบัวนา (2)


เมล็ดบัวสายได้จากพืชน้ำสกุลบัวสาย ชื่อสามัญ : Water lily ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphaea lotus L. ชื่อวงศ์ : NYMPHAEACEAE ชื่อท้องถิ่นอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชคือ เมล็ดบัวนา ลักษณะของบัวสายหรือบัวกินสายเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว หรือเหง้า คล้ายหัวเผือก มีขนาดเล็ก ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อที่เจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอดใบมีรูปเกือบกลม ขอบใบหยักเป็นคลื่น ฐานใบเว้าลึก เส้นใบไม่นูน ใบออกสลับถี่ลอยบนผิวน้ำเรียงเป็นวง ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กกว่าบัวขาว ก้านดอกส่งดอกชูเหนือน้ำ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวแซมชมพู กลีบดอกสีขาวปลายกลีบสีชมพูอ่อน กลีบดอกปลายแหลมเรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น เกสรตัวผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก บานตอนกลางคืนและหุบในตอนสายวันรุ่งขึ้น ดอกบาน 2 วันจากนั้นก้านดอกจะโน้มนำดอกลงไปอยู่ใต้น้ำ ผลเป็นชนิดเบอรี อวบคล้ายหม้อ เรียกว่า "โตนดบัว"(ฝัก) มีเนื้อสีขาวและเมล็ดทรงกลมขนาดเล็กจำนวนมาก แพร่กระจายในน้ำนิ่งที่มีการไหลเวียนถ่ายเทได้ ระดับน้ำ 15-100 เซนติเมตร ประโยชน์ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ก้านดอกใช้รับประทานเป็นผัก และเมล็ดนำมาทำอาหารรับประทานได้ (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล, 2541)

สารอาหารที่แสดงในฉลากโภชนาการ

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการบริโภคอาหารมีผลต่อสุขภาพโดยตรง มีโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการของคนไทย มีทั้ง ขาด เช่น ขาดโปรตีน โรคขาดไอโอดีน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และมากเกิน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การเลือกบริโภคให้ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะโภชนาการของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดูแลสุขภาพ
อาหารประกอบด้วยสารเคมีที่เมื่อรับประทานแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย มี 5 ประเภท โดยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เรียกว่า “ Macronutrients” หรือ “ Fuel nutrient” ส่วนวิตามินและแร่ธาตุเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการน้อยและไม่ให้พลังงานเรียกว่า “ Micronutrient ” (สิริพันธุ์,2541) หากบริโภคสารอาหารทั้ง 5 ประเภท รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดครบถ้วนและได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ก็น่าที่จะมั่นใจได้ว่าจะทำให้มีสุขภาพอนามัยดี
ความต้องการพลังงานจากอาหารของคนทั่วไปที่ทำงานตามปกติ ประมาณวันละประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี ผู้ที่ทำงานหนัก เช่น กรรมกร นักกีฬา ก็จะต้องการพลังงานมากกว่านี้ หรือ ผู้ที่ทำงานเบากว่า ก็จะต้องการพลังงานน้อยกว่านี้ หากต้องการพลังงานมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ปรับกินเพิ่ม หรือลดลงได้ แต่ไม่ควรกินบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป สัดส่วนพลังงานทั้งหมดที่ต้องการ คือ คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 60 โปรตีน ร้อยละ 10 และไขมัน ร้อยละ 30 โดยได้จาก ไขมันอิ่มตัวไม่เกิน ร้อยละ 10
การคำนวณพลังงานนั้น คำนวณจาก คาร์โบไฮเดรต และ โปรตีนจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม และไขมันให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม
ความสำคัญของไขมัน นอกจากให้พลังงาน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและยัง ช่วยเป็นตัวละลายและช่วยในการดูดซึมวิตามินชนิดที่ละลายในไขมันและสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงควรกินไขมันให้หลากหลาย ต่างชนิด ต่างแหล่ง สลับกันไป เช่น น้ำมันถั่วเหลืองบ้าง น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันอื่นๆบ้าง โดยไม่กินเพียงอย่างเดียวซ้ำๆ และมีปริมาณจำกัดไม่ให้มากเกินไป
คลอเลสเตอรอลเป็นไขมันจำเป็นอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ เพื่อไปสร้างส่วนประกอบของเซลประสาทและสมอง ฮอร์โมน เกลือและกรดน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยตับจะสร้างขึ้นเองประมาณ ร้อยละ 80 ของความต้องการของร่างกาย และได้รับจากอาหาร เช่น ไข่ ตับ นม เนย เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ควรรับมากเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เกิดการสะสมนำไปสู่โรคเส้นเลือดตีบตัน และโรคหัวใจขาดเลือดได้
โปรตีน ช่วยการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนคุณภาพดี จะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบ ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นม ไข่ เป็นต้น ร่างกายต้องการกรดอะมิโนที่จำเป็นครบทุกตัวในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งหรือมีสัดส่วนไม่พอเหมาะทำให้ร่างกายเด็กหยุด การเจริญเติบโตและผู้ใหญ่จะมีการสลายตัวของเนื้อเยื่อเพื่อนำกรดอะมิโนไปใช้ ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมโปรตีนได้ดีนัก ดังนั้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงควรกินโปรตีนคุณภาพดีทุกวัน ร่างกายจะเผาผลาญโปรตีนถ้าได้รับคาร์โบไฮเดรตและไขมันไม่เพียงพอ
ส่วนคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลักหรือเชื้อเพลิงของชีวิต ช่วยในการเผาผลาญไขมัน ถ้ามีคาร์โบไฮเดรตไม่พอไขมันจะเผาไหม้ได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดสารพิษ ขึ้นในเลือดและปัสสาวะ (Ketone bodies) ส่งผลให้ความเป็นกรดด่างของร่างกายเปลี่ยนไป และอวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติจนถึงขั้นหมดสติ (coma) ได้ จึงควรได้รับคาร์โบไฮเดรตทุกวัน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงจำกัดอาหาร หรือควบคุมน้ำหนักก็ตามเพื่อป้องกันสภาวะดังกล่าว
ใยอาหาร เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายย่อยไม่ได้ ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวกทุกวันไม่คั่งค้าง เป็นการกำจัดสารพิษต่างๆออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงควรกินผัก ผลไม้เป็นประจำทุกวัน
วิตามินเอ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การมองเห็นที่ดี ช่วยให้สุขภาพของเส้นผม ผิวหนัง เหงือกและฟันแข็งแรงพบมากใน ตับ เนย ไข่แดง และนม พืชจะไม่พบวิตามินเอ แต่พืชที่มีสืเหลือง แสด เขียว ซึ่งมีสารแคโรทีน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วผนังลำไส้เล็กจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ พบมากใน มะเขือเทศ ผลไม้ แครอท และฟักทอง เป็นต้น
วิตามินบี1 (thiamin) ใช้ในการเผาผลาญสารอาหารที่ให้พลังงานโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต และช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ดีของระบบประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจ พบมากใน ข้าวซ้อมมือ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์และถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
วิตามินบี2 ช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และ ไขมัน การส่งพลังงานไปให้เซลล์ต่างๆ และทำให้สุขภาพของผิวหนัง ผมและ เล็บ แข็งแรง พบมากใน เนื้อสัตว์ ปลา นม และเนย
โซเดียม เป็นสารสำคัญในเซลล์ช่วยควบคุมระดับสมดุลของน้ำ ทำให้เกิดแรงดันออสโมซิส มีส่วนในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไป ไตก็จะขับออกทางปัสสาวะ และได้รับมากเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้น ผู้เป็นโรคหัวใจ ความดัน และโรคไตบางชนิดจึงควรกินอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมต่ำ
แคลเซียม เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเนื้อเยื่อประสาท ถ้าแคลเซียมในเลือดลดลงมากๆจะทำให้เกิดอาการชักเกร็ง ถ้ามากไปก็จะทำให้ประสาทเกิดอาการเฉื่อยชา และมีบทบาทต่อการเต้นของหัวใจและชีพจร
เหล็ก เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเมล็ดเลือดแดง เพื่อนำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย แต่ถ้ามีมากจะทำลาย ตับ ตับอ่อน หัวใจ และทำให้อวัยวะอื่นๆเกิดความแปรปรวน

ดังนั้นเพื่อแสดงเป็นข้อมูลโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบและพิจารณาเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะโภชนาการของตน จึงควรตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารดังกล่าวแล้วข้างต้น คือ พลังงานที่ได้รับในอาหาร 100 g ปริมาณไขมัน คลอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เยื่อใย วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 โซเดียม แคลเซียม และเหล็ก เป็นต้น ของอาหารนั้นๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากนักโภชนาการทั่วโลก
แหล่งข้อมูล หัทยา กองจันทึก ดร. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา[ กรกฎาคม 2542 ]

อาหารและโรคที่เกิดเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำ

อาหารเป็นสิ่งสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ซึ่งมีความต้องการอาหารแตกต่างกัน มนุษย์ต้องการอาหารเพื่อสร้างพลังงานให้อวัยวะต่างๆทำงานได้เป็นปกติ เกิดความสดชื่นกระปรี่กระเร่า ร่าเริง และแข็งแรงทนทานต่อโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การบริโภคอาหารมีผลต่อสุขภาพโดยตรง มีโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการของคนไทย ซึ่งมีทั้ง ขาดสารอาหารและสารอาหารมากเกินไป การอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากข้อมูลโภชนาการที่ทำไว้เพื่อผู้บริโภคโดยเฉพาะ จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้ออาหารและเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการ หรือภาวะโภชนาการของตนเองได้ และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคที่เกิดเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำ (Food- borne Disease )ได้
ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจมีเชื้อโรคหรือหนอนพยาธิ หรือสารพิษปนเปื้อนอยู่ในอาหาร อันเป็นสาเหตุทำให้เจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนเหล่านั้น โดยเฉพาะถ้าได้รับในปริมาณมากจะทำให้เป็นโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร และระบบต่างๆในร่างกาย เชื้อโรคที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษที่มักพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารในบ้านเรา ได้แก่ เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส เชื้อคลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ และเชื้ออี.โคไล เป็นต้น ส่วนหนอนพยาธิที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ พยาธิใบไม้ตับ พยาธิตัวตืดวัว พยาธิตัวตืดหมู และพยาธิสาคู เป็นต้น โรคที่เกิดจากสารพิษในอาหารตามธรรมชาติ ทั้งพบในพืชและสัตว์โดยเฉพาะอาหารทะเล ที่มีสมบัติไปทำลายหรือขัดขวางการดูดซึมและการนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ปลาดิบ ไข่ขาวดิบ ขัดขวางการสร้างวิตามินบี 1 สาร Anti-Trypsin ในถั่วเหลืองดิบ ขัดขวางการสร้างโปรตีน สาร Lythylus ในถั่วลันเตาดิบ และสาร Goitrogensรากพืชบางชนิด ทำให้เกิดโรค lythyrism เป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เป็นอัมพาต เป็นต้น โรคที่เกิดจากสารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง และวัตถุเจือปนหรือสารปรุงแต่งอาหารที่เป็นสารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ผู้จัดการอาหารต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาด ( cleanliness) ความปลอดภัย ( safe ) และความน่าบริโภค (aesthetic ) มีการปรับปรุง บำรุงรักษา และแก้ไขให้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการจัดการอาหารในทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหารดิบ การเตรียมและการปรุงอาหาร การผลิตอาหารปรุงสำเร็จอยู่เสมอ และผู้บริโภคเองควรใส่ใจต่อการเลือกอาหาร ควรรับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำได้…?

6/6/52

คำอธิบายรายวิชาสัมนาวิทยาศาสตร์ศึกษา

แนวการสอน

4007901 การสัมมนา ทางวิทยาศาสตร์ศึกษา 1
เวลา 15.00 – 17.00 ห้องเรียนบัณฑิตศึกษา
ผู้สอน ดร. หัสชัย สิทธิรักษ์ ดร. สุมาลี เลี่ยมทอง ดร.จิต นวลแก้ว

คำอธิบายรายวิชา
การสัมนาทางวิทยาศาสตร์ศึกษา1 ศึกษางานวิจัย ทางด้านวิทยาศาสตร์ อภิปรายสังเคราะห์ปํญหาทางด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาระดับต่างๆ ติดตามผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่น นำผลการค้นคว้า และความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาอภิปรายอย่างมีเหตุผล ฝึกการเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ศึกษา

สัปดาห์ 1-4 วันที่ 6 มิถุนายน 2552
สัปดาห์ 5-8 วันที่ 4 กรกฏาคม 2552
สัปดาห์ 9-12 นำเสนอครั้งที่1 วันที่ 1 สิงหาคม 2552
สัปดาห์ 13-15 นำเสนอครั้งที่ 2 วันที่ 5 กันยายน 2552

กิจกรรมการเรียนเรียน
1. นำเสนอบทความเกี่ยวกับการทำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น (ในรูปโปสเตอร์หรือนำเสนอผ่านทางเว็บล็อก)
2. นำเสนอบทความทางวิทยาศาสตร์ศึกษาที่สนใจและพัฒนาเป็นวิทยานิพนธ์ (ทุกคนต้องนำเสนอ)

การประเมินผล
-จากการประเมินของผู้เข้าร่วม
-จากบันทึกรายการโดยผู้สอน
โดยได้รับระดับการเรียนเป็น
ไม่ผ่าน ผ่าน ผ่านยอดเยี่ยม

เอกสาร ฐานข้อมูลที่เกียวข้อง
วารสารทางวิทยาศาสตร์ ตามชื่อเรื่อง ผู้แต่งในฐานข้อมูลในเว็บล็อก
http://vitarticle.blogspot.com
ฐานข้อมูล The Wilson Web Solution
ฐานข้อมูล ISI Web of Science
ฐานข้อมูล ProQuest Information and Learning: Digital Dissertations and Theses
ฐานข้อมูล IEEE Xplore
ฐานข้อมูลวารสาร วิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัย

11/1/52

นวัตกรรม

ความหมาย ความสำคัญและรูปแบบของนวัตกรรม
นวัตกรรม
นวัตกรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 14) ได้ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ไว้ว่าหมายถึง วิธีการปฎิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทาง
ปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
ความหมายของเทคโนโลยี เทคโนโลยี หมายถึงการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการแก้ปัญหา ผู้ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่านักเทคโนโลยี (Technologist) (boonpan edt01.htm)
ความเจริญในด้านต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อศึกษาค้นพบและทดลองใช้ได้ผลแล้ว ก็นำออกเผยแพร่ใช้ในกิจการด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพในกิจการต่างๆ เหล่านั้น และวิชาการที่ว่าด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในกิจการด้านต่างๆ จึงเรียกกันว่า "วิทยาศาสตร์ประยุกต์" หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า "เทคโนโลยี" (boonpan edt01.htm)
ความสำคัญของนวัตกรรม
นวัตกรรมถูกนำมาเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. เพื่อการป้องกัน
2. เพื่อการแก้ปัญหา
3. เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น
4. เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป
5. เพื่อการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม
6. เพื่อพัฒนาคุณภาพและกระบวนการ
ความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษา
ความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษา ก็คือ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1. เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องการเรียนการสอน เช่น
1.1 ปัญหาเรื่องวิธีการสอน ปัญหาที่มักพบอยู่เสมอ คือ ครูส่วนใหญ่ยังคง
ยึดรูปแบบการสอนแบบบรรยาย โดยมีครูเป็นศูนย์กลางมากกว่าการสอนในรูปแบบอื่น การสอนด้วยวิธีการแบบนี้เป็นการสอนที่ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในบั้นปลาย เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความสนใจแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นความคิด และสติปัญญาของผู้เรียนให้อยู่ในขอบเขตจำกัดอีกด้วย
1.2 ปัญหาด้านเนื้อหาวิชา บางวิชาเนื้อหามาก และบางวิชามีเนื้อหาเป็น
นามธรรมยากแก่การเข้าใจ จึงจำเป็นจะต้องนำเทคนิคการสอนและสื่อมาช่วย
1.3 ปัญหาเรื่องอุปกรณ์การสอน บางเนื้อหามีสื่อการสอนเป็นจำนวนน้อย
ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ เพื่อทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ง่ายขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคิดค้นหาเทคนิควิธีการสอน และผลิตสื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ทำให้การเรียนการสอนบรรลุเป้าหมายได้
2. เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยการนำสิ่งประดิษฐ์หรือแนวความคิดใหม่ ๆ ในการเรียนการสอนนั้นเผยแพร่ไปสู่ครู – อาจารย์ท่านอื่น ๆ หรือเพื่อเป็นตัวอย่างอีกรูปแบบหนึ่งให้กับครู – อาจารย์ที่สอนในวิชาเดียวกัน ได้นำแนวความคิดไปปรับปรุงใช้หรือผลิตสื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป
รูปแบบนวัตกรรม
นวัตกรรมสามารถจัดทำได้หลายรูปแบบ เช่น
- แผนการสอน
- ชุดการสอน
- คู่มือครู
- บทเรียนสำเร็จรูป
- สไลด์
- ใบความรู้ ทุกรูปแบบต้องมีคู่มือในการใช้สื่อด้วย
- สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ
- เกม
http://isc.ru.ac.th/data/ED0001376.doc http://tikkatar.is.in.th/?md=content&

8/1/52

เศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชกระแสรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่ อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนร่วม ให้อยู่ที่พอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้...” พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2517
“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” พระราชดำรัส "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2540 และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
จาก งานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวฯ มีสาระสรุปได้ คือ
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง สร้างแนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน (3 ห่วง) อาศัยความรู้ คือ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง วางแผนและดำเนินการอย่างมีคุณธรรม คือซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และแบ่งปัน (2 เงื่อนไข) ให้สามารถปฏิบัติตน ประกอบอาชีพ ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ประหยัด ปราศจากหนี้สิน รู้จักเก็บออม และช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลัง อันจะนำไปสู่การดำรงชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน เป็นการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาและบริหารประเทศเน้นความความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้สามารถอยู่ได้ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต พื้นฐานของการดำรงชีวิตที่อยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล ทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้
เศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชุมชนให้ดีขึ้น ต้องอาศัยหลักการ 2 ประการคือ
1. ความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิตที่ได้กับความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค
2. ความสามารถในการจัดการทรัพยากรของชุมชน
ผลที่ได้ คือ
1. ประชาชนสามารถดำรงชีวิตประกอบอาชีพได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก
2. สามารถใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล มั่นคงและยั่งยืน
4. ปกป้องชุมชน สังคมและเศรษฐกิจจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกได้
ดังนั้นสรุปได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดำเนินชีวิตตามหลักทางสายกลาง ศึกษาหาความรู้ ประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักประหยัดอดออม ใช้จ่ายตามความเหมาะสม ไม่มีหนี้สิน และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เหมาะสม และรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ยาวนาน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างสุขสบาย สมดุล มั่นคง และยั่งยืนนาน……///…

2/1/52

องค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์

ในการศึกษาวิจัย มักจะต้องอ้างถึงวรรณกรรม หรืองานวิจัย หรือบทความที่เกี่ยวข้อง ที่ได้จากงานที่เกิดจากผู้สร้างสรรค์หรือผู้คิดค้นที่มีการได้รับความคุ้มครองจากกฏหมายลิขสิทธิ์ การนำงานอื่นใดมาอ้างถึงสามารถนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสม ต้องคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมตามกฏหมายของเจ้าของและต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์หรือขัดผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบ ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือแหล่งที่มาด้วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งความรู้ เป็นการเพิ่มพูนสติปัญญา มีความรู้ความสามารถในการทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงต้องมีความเข้าใจในการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน ดังนี้
กฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เป็นกฏหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้สร้างสรรค์เหล่านั้น ประเทศไทยมีกฏหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ต่อมาแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ตามลำดับ
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิในฐานะผู้สร้างสรรค์หรือเป็นเจ้าของโดยรับโอน เพื่อจะทำการใดๆเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
ผู้สร้างสรรค์ หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงาน โดยใช้ความคิดริเริ่มของตนเอง เช่น นักแต่งเพลง กวี จิตรกร ศิลปิน นักประพันธ์ นักออกแบบ ประติมากร และสถาปนิก เป็นต้น
งาน หมายถึง งานสร้างสรรค์ เช่น วรรณกรรม ภาพยนต์ งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปศาสตร์ เป็นต้น
วรรณกรรมที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานเขียน แต่งทุกชนิด หนังสือ สิ่งพิมพ์ สิ่งเขียน จุลสาร สุนทรพจน์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศัย สิ่งบันทึกเสียง และภาพ
ศิลปกรรมที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หุ่นจำลอง รวมทั้งงานศิลปะประยุกต์ ดนตรี โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
ขอบเขตและอายุการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีดังนี้
งานที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมด ผู้ใดจะทำซ้ำหรือดัดแปลง เช่น คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา บันทึกเสียง บันทึกภาพ นำออกเผยแพร่โฆษณา หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เปลี่ยนรูปใหม่ ทำสำเนาบางส่วนหรือทั้งหมด จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน
อายุการคุ้มครองจะมีตลอดชีวิตของเจ้าของลิขสิทธิ์ และอีกห้าสิบปีหลังจากผู้สร้างสรรค์ได้ตายไปแล้ว ผู้ละเมิดมีโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือถ้าเป็นการค้า ปรับสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ข้อยกเว้น ในกรณี
1. นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัย เช่นนำไปอ้างอิงในการเขียนรายงาน การวิจัย เป็นต้น
2. นำใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือในครอบครัวหรือญาติมิตร เช่นซื้อแถบบันทึกเสียงไปเปิดฟังในบ้าน ซื้อหนังสือไปอ่าน อัดสำเนาเสียงเพลงลงแถบบันทึกไว้ฟังในบ้าน เป็นต้น
3. นำไปติชมวิจารณ์ โดยแสดงที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานนั้นๆ
4. เสนอรายงานข่างทางสื่อสารมวลชนโดยบอกที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานนั้นๆ
5. นำไปทำซ้ำ แปล หรือแลง หรือนำออกแสดง เช่นจัดนิทรรศการเพื่อประโยชน์ในการสอน
6. คัดลอก ทำสำเนา ดัดแปลงส่วนของงาน หรือตัดทอนทำบทสรุปตามจำนวนที่จำเป็นเพื่อการเรียนการสอน
7. นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการถามและตอบในการสอบ
8. การกล่าว คัด ลอก เลียนหรืออ้างอิงงานบางตอน ตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีการรับรู้ถึงเข้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นๆไม่ให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Utility Model) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของสิทธิบัตร มีสิทธิเด็ดขาด หรือสิทธิแต่เพียงผู้เดี่ยว ในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น เช่น การผลิตและจำหน่าย เป็นต้น สิทธิที่ว่านี้จะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่งเท่านั้น
การประดิษฐ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิภัณฑ์เกิดความสวยงาม และแตกต่างไปจากเดิม
เหตุผลในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร
1 เพื่อคุ้มครองสิทธิบัตรอันชอบธรรมของผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบเนื่องจากผู้ประดิษฐ์หรือผู้ส่งออกแบบได้ใช้สติปัญญา ความพยายาม เวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ สามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจหรือในเชิงพาณิชย์
2 เพื่อให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบ เพราะผลจากการคิดค้นช่วยให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ป้องกันมิให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์จากผลงานดังกล่าวนั้น
3 เพื่อจูงใจให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆขึ้น เป็นการกระตุ้นให้นักประดิษฐ์คิดค้นมีกำลังใจและมีความมั่นใจ ในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จนสำเร็จ
4 เพื่อกระตุ้นให้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ จนทำให้สามารถนำไปศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น
5 เพื่อจูงใจให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มีความมั่นใจในการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ร่วมทุนในประเทศ