13/12/51

เมล็ดบัวนา


เมล็ดบัวนา อาหารธัญพืชมากคุณค่าทางโภชนาการ ที่เกิดจากการค้นพบของชาวนากลุ่มหนึ่งของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา สั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน นำมาทำอาหารหวานรับประทาน เพื่อให้มีอาหารรับประทาน ไม่ต้องใช้เงินเพียงแต่ใช้แรงงานหาฝักบัวนา นำมาแกะเอาเมล็ดออกมา แล้วนำไปตำในครกไม้สำหรับตำข้าวซ้อมมือ เมื่อเปลือกแตกออกตักใส่กระด้งฝัดเปลือกออกไป ได้เมล็ดบัวนาเมล็ดเล็กๆสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมคล้ายช็อกโกแลต นำไปแช่น้ำ 1 คืน ใส่หม้อเติมน้ำปริมาณ 3 - 4 เท่าของเมล็ดบัว ต้มให้สุก จะได้ข้าวเมล็ดบัวนาที่มีกลิ่นหอมมาก เติมกะทิ และน้ำตาล ได้ขนมแกงบวดเมล็ดบัวนาที่รสชาดหอมหวานมัน อิ่มอร่อย
เมล็ดบัวนาสะอาด เป็นอาหารที่ได้ตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย จะมีใครสักกี่คนที่ทราบว่าเมล็ดบัวนานำมารับประทานได้ นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ชาวบ้านค้นพบจากความพยายามแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง มองสิ่งรอบตัวและคิดค้นวิธีการนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน ยังมีผู้มีภูมิรู้ในการหาและทำเมล็ดบัวนาเพียงไม่กี่ราย ได้เมล็ดบัวนาประมาณ 200 กิโลกรัม/ปี เท่านั้น ราคาไม่เล็กตามขนาดของเมล็ด คือ กิโลกรัมละ 200 บาท น่าสนใจมากๆใช่มั้ย ทราบหรือไม่เมล็ดบัวนาได้จากบัวอะไร (ไม่ใช่บัวหลวง) จะมาเฉลยในครั้งต่อไป

9/12/51

เคยปลา

ภูมิปัญญาท้องถิ่นนครศรีธรรมราช โดย ศิริพร รัตนพันธ์








เคยปลา ปลาร้า ......ในภาษาของคนปักษ์ใต้ หมายถึง ปลาดุกหมักเกลือ ตากแห้ง แล้วจึงเก็บในรูปอาหารแห้งแต่.....คนปักษ์ใต้ที่เป็นคนพื้นราบ ประกอบอาชีพกสิกรรม คือปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เช่น ชาวนาในอำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช ก็กินปลาร้าเหมือนกันแต่จะเป็นปลาร้าที่ที่มาจากกรรมวิธีถนอมอาหาร ที่แปรรูปเป็นกะปิที่ทำจากปลา ที่คนพื้นบ้านเรียก "เคยปลา" เคยปลา จัดเป็นอาหารพื้นบ้านอำเภอเชียรใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่ทำมาจากปลา สาเหตุที่ทำกันมาจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลา เมื่อได้ปลามามากกินไม่หมด ปลาก็เน่าพอง ไม่รู้ว่าจะเอาไปไหนจะทิ้งก็เสียดาย เพราะกว่าจะได้มาแต่ละตัวมันก็เหนื่อย ถ้าขายก็ไม่มีคนรับซื้อ จึงคิดค้นหาวิธีการเก็บปลาเอาไว้กินนานๆ จึงได้คิดค้นทำเคยปลาขึ้นมา ซึ่งมีวิธีการดังนี้ 1. นำปลาที่ตายแล้วพองมาขอดเกล็ดล้างให้สะอาด2. นำปลาที่ล้างสะอาดแล้วมาหมักกับเกลือ (โดยหมักในไหหรือภาชนะที่มีฝาปิด)3. เมื่อหมักปลากับเกลือได้ประมาณ 3-4 วัน นำเอามาตากแดด4. นำปลาที่ตากแดดมาตำ โดยไม่ต้องตำให้ละเอียดมากนัก แล้วเอามาตากแดดอีกครั้งหนึ่ง5. เมื่อเห็นว่าแห้งแล้วก็นำมาตำให้ละเอียดอีกครั้ง นำไปตากแดดและตำอีกประมาณ 1-2ครั้ง6. นำเคยปลามาเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด( จะบรรจุใน "เนียง" แล้ว seal ผิวหน้าด้านบนด้วย "น้ำผึ้งจาก" เพื่อป้องกันแบคทีเรียอีกชั้นก่อนปิดฝาให้มิดชิด) จัดเป็นสิ่งดี ดี เพราะ วิธีการทำ"เคยปลา" ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในอำเภอเชียรใหญ่จริง ๆ เพราะชาวบ้านเป็นผู้ช่วยคิดค้นหาวิธีการทำกันเอง เคยปลามีประโยชน์เพราะในเนื้อปลามีโปรตีนสูง และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับบุคคลที่ประกอบอาชีพหาปลาอีกทางหนึ่งด้วย
แกงเคยปลา
ลักษณะแกงเคยปลา หรือ แกงน้ำเคย จัดเป็นอาหารคาวที่มีความนิยมกันมากในทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องแกงเหมือนเครื่องแกงกะทิตามตรงใช้พริกไทยและตะไคร้มากกว่าแกงกะทิ เพิ่มรสชาติที่เข้มข้นและนิยมใช้พริกขี้หนูผสมพริกแห้ง สำหรับกะปิจะใช้กะปิปลา หรือ เคยปลา
วิธีปรุง แกงเคยปลา
เอาน้ำสะอาดใส่หม้อแกงให้พอเหมาะกับปริมาณเคยปลา เมื่อเนื้อเคยปลาถูกน้ำร้อนจะนิ่มและละลาย ใช้ช้อนเน้นที่ก้อนเคยปลาเบา ๆ เนื้อจะหลุดออกจากก้างปลาหมดแล้ว จึงค่อย ๆ เทน้ำเคยปลาที่ได้ออกจากถ้วยเคยปลา กรองน้ำเคยปลาใส่ลงในหม้อแกง นำเครื่องแกงที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ใช้ช้อนคนให้เครื่องแกงละลาย ใส่ปลาย่างซึ่งฉีกเป็นชิ้น ๆ รอจนน้ำแกงเดือด ชิมและปรุงรสตามต้องการ อาจใส่ผัก เช่น มะเขือ ยอดชะอม บวบ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ การรับประทานให้อร่อยต้องมีผักเหนะ ( ผักหนอก ) เช่น สะตอ สะตอเบา (ตอแต กระถิน ) ดอกลำพูน หน่อเหรียง ลูกเนียง เป็นต้น


อนึ่งในหลายท้องถิ่นเรียกแกงเผ็ด , กะปิปลา หรือ "แกงเคยปลา" คล้ายกับแกงไตปลา แต่กลิ่นหอม ลิ้นรู้สึกถึงความมันมากกว่า

29/11/51

ปลาดุกร้า

ปลาดุกร้า ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยกุหลาบ หนูนะ
ปลาดุกร้า คือปลาที่ทำด้วยปลาดุกอุย (หรือที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า ปลาดุกเนื้ออ่อน) ซึ่งตายขณะที่ชาวประมง ชาวบ้านดักจับปลาตามธรรมชาติ และกว่าจะกลับมาถึงบ้านปลาก็เริ่มมีกลิ่นเหม็น จะทิ้งไปก็เสียดาย ชาวบ้านก็เลยนำมาหมักเกลือไว้ รุ่งเช้าก็นำออกตากแดดจัด ประมาณ 1 – 2 วัน ปลาที่มีกลิ่นเหม็นก็เริ่มมีกลิ่นหอมขึ้นมา เมื่อนำมาทอดให้สุกและทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็ทำให้ได้รสชาติดีอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้เพราะปลาดุกอุย เนื้อยุ่ยนิ่ม รสหอม หวาน มัน อร่อย และไม่มีรสคาว อันเนื่องมาแต่คุณภาพของปลาและวิธีหมักเนื้อปลา และคุณภาพของปลา ปัจจุบันปลาเริ่มหายาก ปลาดุกอุยตามธรรมชาติลดน้อยลงและมีราคาแพง การทำปลาดุกร้าจากปลาธรรมชาติก็กลายมาเป็นทำจากปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อธรรมชาติแทน และกรรมวิธีในการผลิตก็แตกต่างกัน ในสมัยก่อนทำจากปลาที่ตายระหว่างการดักจับปลาตามธรรมชาติแต่ในปัจจุบัน ปลาดุกร้าทำจากปลาสดที่จับจากบ่อเลี้ยงแล้วนำมาทำให้ตายโดยน๊อคด้วยเกลือแกงแทน
วัสดุ อุปกรณ์
ปลาดุก
เกลือเม็ด 1 ก.ก
น้ำตาลทราย 0.5 ก.ก
ภาชนะสำหรับใส่ปลา +ฝาปิด เช่น โอ่ง หรือ กะละมัง
พลาสติกหือกระดาษหนังสือพิมพ์
เชือกฟาง
มีด
เขียง
น้ำ
วิธีทำ
เลือกปลาดุกสดขนาดตัวเท่ากัน (ทำให้ตายโดยการน็อคเกลือ) นำมาตัดหัวและดึงขี้ทิ้ง
ล้างให้สะอาดจนหมดเมือก พักไว้
เกลือเม็ดนำมาใส่ครกตำให้ละเอียด พักไว้ (ปลา 10 ก.ก : เกลือ 1 ก.ก.)
นำปลาที่พักไว้วางภาชนะเป็นชั้น ๆ โดยวางสลับหัวหาง(เพื่อความจุและเป็นระเบียบ) วางปลาชั้นที่ 1 จนเต็มก้นภาชนะแล้วโรยเกลือให้ทั่วตัวปลา จึงค่อยวางปลาชั้นที่ 2 ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 จนหมดปลาที่เตรียมไว้(ในขั้นนี้จะต้องเก็บเกลือส่วนที่ใช้ไว้)
ใช้พลาสติกหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดปากภาชนะ ใช้เชือกรัดให้แน่นแล้วปิดฝา หรือถ้าภาชนะไม่มีฝาปิดก็เอาภาชนะอื่นมาวางครอบไว้ข้างบนแทน
ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน นำปลาออกมาล้างให้สะอาด ประมาณ 5 ครั้งหรือล้างให้หมดเกลือ (ในขั้นนี้จะมีกลิ่นเหม็นของปลา)
นำปลาที่ล้างดีแล้วไปตากแดดจัด ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือถ้าแดดไม่จัดนักก็ประมาณ 1 วัน เก็บปลาที่ตากแดดจัดมาพักให้เย็น
นำน้ำตาลทรายมาตำให้ละเอียด นำเกลือส่วนที่เหลือจากการหมักครั้งก่อนมาอัดในท้องปลาโดยอัดสลับกับน้ำตาลทรายตำละเอียดจนหมดปลา (ถ้าต้องการให้ปลามีความหวานก็ใส่น้ำตาลให้มาก)
นำปลามาวางเรียงซ้อนเป็นชั้น ๆ ในภาชนะ แต่ละชั้นโรยน้ำตาลทรายบาง ๆ หมักไว้ 2 คืน
นำปลาออกมาตากแดด ประมาณ 2 วัน หรือถ้าแดดไม่จัดนักก็ตากแดดจนตัวปลาแห้ง ในขั้นนี้ปลาจะมีกลิ่นหอม (เวลานำปลามาเก็บก่อนจะตากครั้งต่อไปก็นำปลามาเรียงซ้อนกัน)
ถ้าจะรับประทานก็นำปลามาทอด ใช้ไฟอ่อนๆ มิฉะนั้นปลาจะไหม้ดำรับประทานไม่ได้นะจะบอกให้

15/11/51

แกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ยุวดี วัฒนสุนทร
คนปากพนังดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับแม่น้ำและทะเล ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีความอุดมสมบูรณ์มายาวนาน มีทั้งสัตว์น้ำมากมาย ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปริมาณสัตว์น้ำมากมาย จนเกิดภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาปรุงอาหารรับประทาน และถนอมอาหารที่มีอยู่ไว้รับประทานได้นานขึ้นหรือเก็บไว้ในหน้าแล้ง เช่น ปลากระบอกที่นำมาทำปลาร้า(ภาษาท้องถิ่น) ( หมายถึงปลาเค็ม ) ปลากระบอกผ่าล้างน้ำเกลือแล้วตากแห้ง ไข่ปลากระบอกล้างน้ำเกลือตาก ส่วนพุงปลากระบอกหรือไตปลา นำแกะเอาถุงน้ำดีออกและรีดเอาอาหารหรือดินในกระเพาะและไส้ออกก่อน แล้วล้างให้สะอาดแล้วใส่เกลือหมักไว้ เมื่อมีแสงแดดจะนำออกมาตากไว้จะมีกลิ่นหอม ประมาณ 1 เดือนจึงจะนำมาปรุงเป็นอาหารได้
มีการปรุงได้หลายๆแบบ เช่น
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด หรือใส่ปลาช่อนย่าง หรือใส่ปลาดุกนาย่าง หรือปลาอื่นๆที่มีอยู่โดยนำปลามาย่างให้สุกก่อนใส่ลงในแกง อาจเพิ่มผักที่มีเนื้อแข็งหรือเนื้อหนาลงไปด้วย เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ หน่อไม้ต้ม(ดัดแปลงไปจากท้องถิ่น) หรือมันฝรั่งก็ได้
· แกงพุง(ไตปลา)ปลาอื้อ เป็นแกงที่มีไตปลาเป็นหลัก แต่เครื่องแกงไม่ตำ แต่จะหั่นทุกอย่างในเป็นฝอยหรือชิ้นเล็กๆพร้อมทั้งใส่ขนมถั่วงาตำลงไปด้วย
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กะทิ โดยการเพิ่มกะทิลงในแกงแกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด เพื่อเปลี่ยนรสชาด
แกงไตปลามีรสจัด มักทำรับประทานในฤดูฝนอากาศเย็น จะช่วยรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และเพื่อเพิ่มคุณค่าให้อาหาร โดยการรับประทานร่วมกับผักสดหลายชนิด รวมทั้งช่วยลดความเผ็ดร้อนลง เรียกว่า ผักเหนาะ เช่น สะตอเบา(กระถิน รับประทานทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อนและเมล็ด) สะตอหนัก ลูกเนียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ และ แตงกวา เป็นต้นมักรับประทานร่วมกับแกงเรียง ผักพื้นบ้าน หรือกับขนมจีนใส่แกงพุงปลา ก็เป็นที่นิยมรับประทาน อร่อยมากเช่นกัน
เครื่องปรุงแกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง
1. กุ้งสดแกะเปลือกแล้วทุบ หรือหั่นเฉียงๆ 1 ถ้วยตวง(หรือหมูสับก็ได้ตามชอบ)
2. ปลาช่อน(ปลาดุก หรือปลาทะเลอื่นๆที่มีอยู่ ย่างแกะเนื้อแล้ว) 1 ถ้วย หรือตามชอบ
3. ไตปลา ครึ่งถ้วยตวง (60 กรัม)
4. เครื่องแกง ประกอบด้วย
· ตะไคร้หั่นเป็นแว่นบางๆ 2-3 ช้อนโต๊ะ (นิยมใส่มากๆจะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี)
· ขมิ้นหั่นเป็นแว่นๆ 1/2 ช้อนโต๊ะ
· หอมแดง 2-3 หัว
· กระเทียมไทย 10-15 กลีบ
· พริกขี้หนูแห้งหรือสด 25 เม็ด
· พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา
· ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1/2 ช้อนชา
· ข้าวสารแช่น้ำ 1 ช้อนชา (ถ้าต้องการแกงน้ำข้น)
· กะปิ 1/2 ช้อนโต๊ะ
5. ใบมะกรูดอ่อน 5 ใบ และใบแก่ 5 ใบ
6. เครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมะนาว (มะขามสดหรือเปียก หรือมะกรูด) อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือตามชอบ (สูตรนี้ไม่ใส่ผงชูรส)
7. ผักเนื้อหนา เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ และมันฝรั่งฯ ลฯ
วิธีทำ
1. ตำเครื่องแกงด้วยครกหินหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าก็ได้ ให้ละเอียด หรือตำอย่างหยาบก็ได้ แต่ให้ใส่กะปิ เมื่อเครื่องแกงละเอียดแล้ว ตำพอเข้ากัน
2. ทุบตะไคร้ 1 ต้น หอมแดง 2 หัวและใบมะกรูดแก่ 5 ใบ ใส่ ลงในหม้อ ใส่พุงปลา (ไตปลา) พร้อมน้ำสะอาด 2 ถ้วย (ตอนนี้ถ้าใช้มะขามสดให้ใส่ลงไปด้วย)
3. ตั้งไฟให้เดือด 4-5 นาที ยกลง กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำขึ้นตั้งไฟใส่เครื่องแกงต้มให้เดือดใส่กุ้งสดลงไปทั้งก้อน (ห้ามคนจนกว่ากุ้งสุก) ใส่ปลาย่าง และผักต่างๆ(ชนิดที่สุกช้าใส่ก่อน) จนผักสุกหมดแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล เพื่อตัดความเค็ม และได้รสชาดกลมกล่อมขึ้น ได้ที่แล้วใส่ใบมะกรูดฉีกฝอย ยกลงพร้อมรับประทานได้
สรรพคุณของสมุนไพรในเครื่องแกงไตปลา
1. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหารช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
2. ขมิ้นชัน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับลม รักษาโรคผิวหนัง
3. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลม ขับพิษร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้
4. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
5. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคทางผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
6. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหารและขับเหงื่อ
7. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
8. พริกไทยเม็ด รสเผ็ดร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยเจริญอาหาร
แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และโรคไต ไม่ควรรับประทาน เพราะแกงไตปลามีรสเผ็ดจัด และเค็มจัด
*คุณค่าทางโภชนาการแกงไตปลาน้ำข้น 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 759 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- น้ำ 453.4 กรัม - แคลเซียม 448.9 มิลลิกรัม - โปรตีน 86.5 กรัม - ฟอสฟอรัส 302.8 มิลลิกรัม - ไขมัน 8.3 กรัม -เหล็ก 18.8 มิลลิกรัม - คาร์โบไฮเดรต 83.6 กรัม - วิตามินเอ 2545.2 IU - กาก 5.4 กรัม - วิตามินบีหนึ่ง 55.46 มิลลิกรัม - เรตินอล 0.88 ไมโครกรัม - วิตามินบีสอง 0.51 มิลลิกรัม - เบต้า-แคโรทีน 24 ไมโครกรัม - ไนอาซิน 4.10 มิลลิกรัม - วิตามินซี 29.93 มิลลิกรัม
*ที่มา : www.tkc.go.th

ความหมายของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ความหมายของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วิทยาศาสตร์ (Science) หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งต่างหรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่ได้จากการสืบค้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง มโนมติ หลักการ กฎ สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ และทฤษฎี เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะไม่ใช่การศึกษาเพื่อธุรกิจ
เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆต่อมนุษย์ จึงเป็นการศึกษาเพื่อธุรกิจ
นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการพัฒนาด้านการจัดการ การผลิต กระบวนการผลิต หรือการบริการแนวใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หรือตลาด จึงมีความหมายที่เป็นการคิดค้นในเชิงธุรกิจด้วย
ความสำคัญของนวัตกรรม
1. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญรุดหน้า
2. ทำให้มีการนำความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้อย่างมีประโยชน์
3. ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ ผลผลิต ผลงานและการบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตลาด
4. ทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาให้มีคุณค่ามากขึ้น
5. ทำให้ผู้คิดค้นมีชื่อเสียงและร่ำรวยได้
6. ช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของมนุษยชาติ
7. ช่วยพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าและยาวนานยิ่งขึ้น
8. ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามความต้องการ
9. ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในระยะยาว
10. ช่วยปกป้องคุ้มครองโลกให้มีสมดุลธรรมชาติได้ยาวนาน
รูปแบบของนวัตกรรม
1. เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนาจากความรู้เดิม หรือดัดแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อม หรือวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
2. เป็นผลิตผลเพื่อการบริการ ได้แก่
- สุขภาพอนามัย เช่น เครื่องออกกำลังกาย ข้อมูลโภชนาการ อาหาร ยาและสมุนไพร และเครื่องสำอาง ฯลฯ
- อำนวยความสะดวกในบ้านเรือน สำนักงาน และยานพาหนะ ฯลฯ
3. เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับพลังงาน การใช้พลังงาน และพลังงานทดแทน ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เป็นประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ฯลฯ
ที่มา :โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 , 2007 ; www.tia.scisoc.or.th

ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องถ่านผลไม้

http://fruitcharcoal.blogspot.com/

เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลไม้ครับ ส่ง Link มาให้กลัวหาไม่เจอเพราะสร้าง Link ใหม่ขึ้นมา

เจมส์

2/8/51

ความคิดที่ไม่เหมือนใครของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ในศตวรรษ ที่ 18 ดาร์วิน กับ เมนเดล ไม่รู้เลยว่าเขากำลังทำงานเรื่องเดียวกันคือเขาได้วางรากฐานการศึกษาศาสตร์ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ในศตวรรษ ที่ 20 คือ ดาร์วิน มองเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกันสืบสายบรรพบุรุษเดียวกัน ขณะที่ เมนเดลก็ได้ให้กลไกที่จะอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เมลเดล มีผลงาน
origin of species ส่วนดาร์วิน มีทฤษฏี เรื่องมนุษย์สืบเชื้อสายมาจากลิงไม่มีหาง ซึ่งก็มีความหมายถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่ผลงานของทั้งสองคนก็ไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากพระนักสอนศาสนาที่เชื่อว่า มนุษย์ มีทุกอย่างได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า ต่อมามี อัลเฟรด รัสเซล วอลเลช ที่มีความคิดเหมือนเขาและได้ทำงานร่วมกัน ทฤษฏี on the origin of species ของ ดาร์วิน กล่าวถึงกลไกที่จะทำให้ชนิดพันธุ์แข็งแกร่งขึ้น ดีขึ้น หรือเคลื่อนไหวเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่เขาไม่ได้กล่าวว่ามันทำให้เกิดชนิดพันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างไร หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่จะมาสนับสนุนก็ไม่มีเลย ฟลีมิง เจงคิน แย้งว่าลักษระที่เป็นประโยชน์ใน พ่อแม่ไม่ใช่ลักษณะเด่นในรุ่นต่อมา แต่จะถูกผสมให้อ่อนลงหรือเจือจางลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการจับคู่ เรื่องบังเอิญเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนักชีวะวิทยาคนอื่นๆ ให้เหตุผลว่าถ้า เขาอ้างว่าถ้ามีชนิดพันธุ์ใหม่อยู่จริงจะต้องมีชนิดที่อยู่ตรงกลาง กระจายอยู่ทั่วเช่นกัน ในขณะที่เมนเดล ได้ทำการทดลองปลูกถั่ว 7 ชนิดเพื่อให้แน่ใจว่ามันผสมพันธุ์อย่างถูกต้อง ใช้ต้นถั่วถึง 3 หมื่นต้นทดลองครั้งแล้ครั้งเล่าจนสรุปลักษณะทางพันธุกรรม 2 ลักษณะ คือ ลักษณะ เด่น (dominant) กับ ลักษณะด้อย (recessive) ลักษณะเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้ว จะให้ลูกหลานที่มีลักษณะที่คาดเดาได้เขานำผลที่ได้มาเขียนสูตรคณิตศาสตร์ที่ชัดเจน นั้นก็คือคำตอบที่ดาร์วินยังหาคำตอบไม่ได้นั้นเอง

26/7/51

โครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงาน หมายถึงวิธีการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบที่เป็นข้อสงสัยหรือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ต้องการรู้รายละเอียดด้วยตนเองต่อเนื่องจากการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีหลายวิธีการ เป็นการฝึกความคิดและฝึกการทำงานที่เป็นลำดับขั้นตอนด้วย
โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเองโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกันหลายทักษะตามความเหมาะสม ซึ่งไม่เหมือนกับการเรียนรู้จากโครงงานวิชาอื่นๆ ตรงที่ว่าจะหาคำตอบจากข้อสงสัยหรือเรื่องที่สนใจโดยวิธีการใดๆ ก็ได้ ไม่เจาะจงว่าต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์
ถ้าใช้ลักษณะของกิจกรรมการศึกษาค้นคว้าเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง จะจัดแบ่งโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ 4 ประเภท คือ
1. โครงงานประเภททดลอง
โครงงานประเภททดลองเป็นโครงงานที่มีการออกแบบทดลองเพื่อการศึกษาและจัดกระทำกับตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ มีการจัดตัวแปรตามและควบคุมตัวแปรอื่นที่ไม่ต้องการศึกษา ขั้นตอนการทำงานของโครงงานประเภทการทดลอง คือ
1.1 กำหนดปัญหา
1.2 ตั้งสมมติฐาน
1.3 ออกแบบการทดลอง
1.4 ดำเนินการทดลอง
1.5 รวบรวมข้อมูล
1.6 แปรผลและสรุปการทดลอง
ตัวอย่างชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลอง เช่น
- เรื่อง ขิงชะลอการบูด
- เรื่อง การทำกระดาษจากกาบกล้วย
- เรื่อง การใช้สารสกัดจากใบมันสำปะหลัง เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช



2. โครงงานประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล
โครงงานประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล เป็นโครงงานที่ศึกษาข้อมูลในเรื่องต่างๆ โดยออกไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาจัดเป็นหมวดหมู่โดยมีเกณฑ์กำหนดและนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ในเรื่องนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โครงงานประเภทนี้ไม่ต้องกำหนดตัวแปรเหมือนการทดลอง
ตัวอย่างชื่อโครงงานประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล
- เรื่อง การสำรวจชื่อต้นไม้ในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช
- เรื่อง การสำรวจราเมือกบางบริเวณในจังหวัดนครนายก
- เรื่อง การสำรวจหมู่เลือดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช

3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์เป็นโครงงานที่นำหลักการหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาจัดทำประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่จะเป็นประโยชน์ใช้สอยต่างๆ โดยการคิดประดิษฐ์ของใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใคร หรือปรับปรุงจากของที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายด้วย
ตัวอย่างชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เช่น
- เรื่อง พวงกุญแจจากใบไม้
- เรื่อง ถุงจากใบตองเทียม
- เรื่อง ตู้อบผ้าพลังแสงอาทิตย์

4. โครงงานประเภททฤษฎี
โครงงานประเภททฤษฎีเป็นโครงงานที่ผู้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้เป็นหลักการหรือทฤษฎี จะเป็นสูตรหรือคำอธิบายก็ได้ จุดสำคัญคือผู้ทำโครงงานนี้ต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นอย่างชัดเจนจึงเสนอโครงงานนี้อย่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่เป็นโครงงานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือดาราศาสตร์
ตัวอย่างชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทโครงงานทฤษฎี เช่น
- เรื่อง ทฤษฎีความสูงสัมพันธ์
- เรื่อง ทฤษฎีการเคลื่อนที่เร็วกว่าแสงและเร็วเท่าแสง
- เรื่อง ทฤษฎีหน่วยมวล และเส้นใยแสง กับแนวคิดแหล่งพลังงานชั่วนิรันดร์
ขั้นตอนของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มีการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้
1. การคิดและเลือกเรื่อง
2. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3. การจัดทำเค้าโครงย่อของโครงงาน
4. การลงมือทำโครงงาน
5. การเขียนรายงาน
6. การแสดงผลงาน

1. การคิดและเลือกเรื่อง
หัวข้อเรื่องของโครงงานจะได้จากปัญหา ข้อคำถาม หรือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ซึ่งหัวข้อเรื่องที่คิดจะทำงานนั้นจะต้องชัดเจนและชี้เฉพาะว่าจะศึกษาเรื่องอะไรถ้าเป็นเรื่องแปลงใหม่และมีประโยชน์ก็แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และมีคุณค่า
ข้อมูลที่ทำให้เกิดแนวคิดในการเลือกหัวเรื่อง ได้แก่
1) การอ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น ตำราเรียน วารสาร เอกสารเผยแพร่ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ
2) การฟังและชมรายการทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นการบรรยายทางวิชาการหรือเรื่องสารคดีน่ารู้
3) การได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ให้การศึกษา เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ วนอุทยาน โรงงาน อุตสาหกรรม สถานเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
4) งานอดิเรกของตนเอง
5) กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน
6) การชมนิทรรศการและงานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7) ศึกษาจากโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว
8) การปรึกษา พูดคุยกับครู เพื่อน หรือบุคคลอื่น
9) การสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เห็นรอบตัว
สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบในการเลือกทำโครงงาน ได้แก่
- มีความรู้และการใช้อุปกรณ์พื้นฐานได้
- มีแหล่งค้นคว้าหาความรู้
- วัสดุอุปกรณ์จัดหาหรือจัดทำขึ้นได้
- มีเวลามากพอที่จะทำงานได้
- มีคุณครูเป็นที่ปรึกษา
- มีความปลอดภัย
- มีงบประมาณเพียงพอ

2. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องที่คิดจากแหล่งต่างๆ เช่น ห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ โปรแกรมจากคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการสำรวจวัสดุอุปกรณ์ด้วย ที่สำคัญคือต้องมีการจัดบันทึกเป็นหลักฐานจากการศึกษาเอกสารและการขอคำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการทำงานและไม่สับสน

3. การจัดทำเค้าโครงย่อจากโครงงาน
การเขียนเค้าโครงย่อของโครงงานเพื่อแสดงแนวความคิด แผนงาน และขั้นตอนการทำงาน แล้วเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอความเห็นชอบในการทำงาน เค้าโครงย่อของโครงงานมีลำดับหัวข้อดังนี้
1) ชื่อโครงงาน
2) ผู้ทำโครงงาน
3) ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน
4) ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
5) จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
6) สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)
7) วิธีดำเนินงาน
7.1) วัสดุอุปกรณ์
7.2) แนวการศึกษาค้นคว้า
8) แผนปฏิบัติงาน
9) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
10) เอกสารอ้างอิง



4. การดำเนินงานโครงงานวิทยาศาสตร์
เมื่อคุณครูที่ปรึกษาให้คำแนะนำและเห็นชอบในเค้าโครงเรื่องย่อที่นำเสนอไป ลำดับต่อไปคือ การลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อทำงานคือ
1) เตรียมสิ่งต่างๆ ให้พร้อมทั้งสถานที่และวัสดุอุปกรณ์
2) มีสมุดบันทึกกิจกรรมที่ทำไปแต่ละวันหรือแต่ละครั้งเกี่ยวกับผลงาน ปัญหา และข้อคิดเห็น
3) ถ้าเป็นการทดลอง ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และบันทึกข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วน และควรทดลองซ้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
4) ต้องระวังความปลอดภัยและคำนึงถึงความประหยัดด้วย
5) ทำงานในส่วนที่เป็นหลักสำคัญตามที่วางแผนไว้ในตอนแรก แต่อาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงบ้างให้เหมาะสม รวมทั้งทำส่วนประกอบที่เสริมตกแต่งโครงงานตอนหลัง
6) ไม่ควรทำงานต่อเนื่องจนเหนื่อยล้าเกินไป จะทำให้ไม่ระวังและผิดพลาดได้
7) โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ต้องคำนึงถึงความคงทนแข็งแรง และขนาดที่ใช้งานที่เหมาะสม
8) โครงงานที่มีการใช้สัตว์ทดลองต้องศึกษาข้อกำหนดในการนำสัตว์มาใช้ทดลองหรือแสดงโครงงาน เช่น ดูแลให้อาหารและรักษาความสะอาด ไม่ทอลองสัตว์ที่มีพิษหรืออันตราย ไม่ยั่วเย้าหรือทารุณสัตว์ ถ้าใช้กรงต้องมีขนาดพอเหมาะ มีความแข็งแรง ไม่คับแคบ หรือตู้ปลาควรใช้วัสดุกันรั่ว ใช้เครื่องพ่นอากาศ เมื่อจำนวนปลามีมาก ข้อสำคัญคือควรได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา และเขียนโครงการทดลองทั้งหมดนำเสนอ
ผลของความสำเร็จในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทดลองไม่ได้ขึ้นอยู่กับได้ผลตรงตามที่คาดหวังไว้ทุกครั้ง แม้ว่าผลการทดลองจะไม่เป็นไปตามคาดหวัง แต่ได้ปฏิบัติและบันทึกผลจริงก็ถือว่ามีความสำเร็จในการทำโครงงานด้วย

5. การเขียนรายงาน
การเขียนรายงานเกี่ยวกับโครงงานเป็นการสื่อความหมายที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง ซึ่งให้ผู้อื่นได้รู้และเข้าใจแนวคิด วิธีการ ข้อมูลต่างๆ ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุป ข้อเสนอแนะต่างๆ การเขียนรายงานควรใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย กะทัดรัด ชัดจน ตรงไปตรงมา การเขียนยืดยาวมากเกินไปทำให้ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร
หัวข้อต่างๆ ในการเขียนรายงาน มีดังนี้
1) ชื่อโครงงาน
2) ชื่อผู้ทำโครงงาน
3) ชื่อที่ปรึกษา
4) บทคัดย่อ
5) ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
6) จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
7) สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)
8) วิธีดำเนินการ
8.1) วัสดุอุปกรณ์
8.2) วิธีดำเนินการทดลอง
9) ผลการศึกษาค้นคว้า
10) สรุปและข้อเสนอแนะ
11) คำขอบคุณหน่วยงานหรือบุคลากรที่มีส่วนช่วย
12) เอกสารอ้างอิง
หัวข้อการเขียนรายงานนี้เป็นลักษณะการเขียนรายงานทั่วๆ ไป ซึ่งอาจไม่ตรงกันในโครงงานแต่ละประเภท แต่สิ่งสำคัญในการเขียนรายงาน คือ ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เขียนชัดเจน ไม่วกวน ใช้คำศัพท์เทคนิคถูกต้อง และครอบคลุมประเด็นของโครงงานทุกเรื่อง

6. การแสดงผลงาน
การแสดงผลงานเป็นการแสดงถึงผลผลิตการทำงานที่มีความคิด ความสามารถ และความพยายามของผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีความสำคัญเท่าๆ กับการทำโครงงาน คือ การวางแผน ออกแบบเพื่อจัดแสดงผลงาน ซึ่งจัดทำโดยจัดนิทรรศการที่มีการจัดแสดงและอธิบายพร้อมกัน หรือจัดแสดงผลงานอย่างเดียวไม่มีการอธิบาย หรือเป็นการรายงานปากเปล่า
ในการวางแผนและออกแบบการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงโครงงาน ต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
- ความเหมาะสมของเนื้อที่ที่จัดแสดง รวมทั้งความปลอดภัย
- คำอธิบายที่เขียนแสดงควรเน้นสิ่งที่น่าสนใจ และประเด็นสำคัญใช้ข้อความที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด ชัดเจน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่เขียนสะกดผิด
- การใช้รูปภาพและตารางประกอบต้องจัดให้เหมาะสม
- สิ่งที่แสดงทุกอย่างถูกต้อง ไม่อธิบายผิดหลักการ และถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ควรอยู่ในสภาพที่ทำงานได้สมบูรณ์
ในการอธิบายหรือรายงานปากเปล่าหรือตอบคำถามผู้ที่มาชมผลงานากรแสดงโครงงาน มีสิ่งที่ควรคำนึงเพื่อนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมาะสม เกิดความชำนาญ ดังนี้
- ทำความเข้าใจเรื่องที่จะอธิบายเป็นอย่างดี รวมทั้งรู้ลำดับหัวข้อที่สำคัญด้วย
- รายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ภาษาที่ใช้พูดต้องเหมาะสมกับระดับผู้ฟัง ซึ่งควรชัดเจน เข้าใจง่าย
- อย่าท่องจำรายงานหรือหลีกเลี่ยงการอ่านรายงาน เพราะดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่อาจมีหัวข้อสำคัญที่จำไว้ช่วยในการรายงานให้เป็นไปตามขั้นตอน
- ตอบคำถามให้ตรงประเด็น มีการเตรียมตัวตอบคำถามในเรื่องนั้นล่วงหน้า หรือฝึกตอบคำถามกับเพื่อนก่อน ในกรณีที่เกิดการติดขึ้นก็ควรยอมรับ ไม่ควรกลบเกลื่อนหรือหาทางเลี่ยงไปทางอื่น และไม่จำเป็นที่จะกล่าวถึงเรื่องที่ไม่ได้ถาม
- รายงานให้เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด

สรุปการทำโครงงานวิทยาศาสตร์
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการทำงานที่นำความรู้ความเข้าใจในทฤษฎี หลักการ ตลอดจนสาระของวิชาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เป็นผลงานในทางสร้างสรรค์ โดยอาศัยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ จัดทำด้วยตนเองอย่างมีลำดับขั้นตอน เมื่อนำผลงานไปแสดงก็ทำให้เกิดความภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น

14/7/51

นักกะเทาะหิน
ในศตวรรษที่ 18-19 ผู้คนตื่นเต้นและสนใจใคร่รู้ในเรื่องธรณีวิทยากันมาก จนมีการก่อตั้งสมาคมธรณีวิทยาขึ้นมา เชิญติดตามประวัติและผลงานของนักธรณีวิทยาบางท่านดูนะคะ
เจมส์ ฮัตตัน(James Hutton) เกิดเมื่อปี 1726 ในครอบครัวชาวสก็อตที่มีฐานะดี เป็นคนที่ทีบุคลิกฉลาดเฉลียว คุยสนุก เป็นเพื่อนที่น่าคบ มีชีวิตอยู่อย่างหรูหรา มีความสนใจเกือบทุกสิ่ง แต่ที่สนใจเป็นพิเศษคือธรณีวิทยา
ในยุคนั้นมีผู้สนใจใคร่รู้ว่า เพราะอะไรเปลือกหอยโบราณและฟอสซิลสัตว์ทะเลอื่นๆถึงได้พบบ่อยครั้งบนยอดเขา ความคิดแบ่งเป็น 2 ฝ่าย กลุ่มเนปจูนิสต์ เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก รวมทั้งเปลือกหอยที่อยู่สูงลิบลิ่ว เป็นเพราะระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงและลงต่ำ พวกเขาเชื่อว่าภูเขา เนินเขา และสิ่งอื่นๆเก่าแก่เท่ากับโลก จะเปลี่ยนรูปก็ต่อเมื่อน้ำซัดสาดกัดเซาะในยุคที่น้ำท่วมโลก กลุ่มพลูโตนิสต์ เชื่อว่าภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหว คือตัวการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกอย่างต่อเนื่อง
ฮัตตันได้สังเกตว่า ดินเกิดจากก้อนหินผุกร่อน และอนุภาคของดินเหล่านี้ถูกชะล้างและพัดพาไปอย่างต่อเนื่องโดยลำธาร แม่น้ำ แล้วไปตกตะกอยอยู่ที่อื่น แต่เปลือกโลกไม่ได้ราบเรียบไปทั้งหมด แสดงว่าต้องมีกระบวนการอื่นอีก ต้องมีรูปแบบของการสร้างใหม่และยกขึ้น เป็นกระบวนการที่สร้างเนินเขาและภูเขาเพื่อให้วงจรนี้ดำเนินต่อไป เขาจึงคิดว่าฟอสซิลของสัตว์ทะเลบนยอดเขาถูกยกขึ้นไปพร้อมกับภูเขา เขาให้เหตุผลว่าต้องเป็นความร้อนภายในโลกที่สร้างหินและทวีปใหม่ๆขึ้นมาและผลักดันให้เกิดภูเขาต่อเนื่องเป็นแนว
เขาเขียนหนังสือออกมา 5 เล่ม แต่เป็นหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่อง หลังจากที่ฮัตตันตายได้ 5 ปี จอห์น เพลย์แฟร์ เพื่อนของเขาได้ทำหนังสืออธิบายความอย่างง่ายในหลักการของฮัตตันออกมา มีชื่อว่า lllustration of the Huttonain Theory of the Earth
โรเดอริก เมอร์ชิสัน (Roderick Murchison) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Silurain System ในปี 1839 เป็นเรื่องของหินทรายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เกรย์แวค(Greywacke) เป็นหนังสือขายดี ตีพิมพ์ถึง 4 ครั้ง ถึงแม้อยู่ในสไตล์อ่านไม่รู้เรื่องแบบฮัตตัน
สาธุคุณวิลเลียม บัคแลนด์(Reverend William Buckland) เป็นคนแปลก แต่มีเสน่ห์ เขาลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในบ้านและสวน ทั้งสัตว์ใหญ่และสัตว์อันตราย ชอบกินสัตว์แปลกๆ เช่น หนูบ้านทอด ตัวเฮดจ์ฮ็อกย่าง ปลิงทะเลต้ม เขาเป็นผู้นำในศาสตร์ที่เรียกว่า โคโพรไลท์(coprolite) หรือการศึกษาอุจจาระของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นฟอสซิล
เจมส์ พาร์กินสัน(James Parkinson) เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยา ชื่อ Organic Remains of a Former World (ยุคนี้ผู้คนจะรู้จักเขาในชื่อของโรคพาร์กินสัน ซึ่งยุคนั้นเรียกว่าโรคกล้ามเนื้อสั่น)
ชาร์ลส์ ไลเยลล์ ชาวสก็อต เป็นคนใฝ่รู้ที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ทำงานร่วมกับ วิลเลียม บัคแลนด์ ไลเยลล์ เป็นคนสายตาสั้นมากๆตลอดชีวิตต้องหรี่ตาเพ่งมองสิ่งต่างๆทำให้ขาดอากาศเข้าไปเลี้ยงลูกตา จนตาบอดในที่สุด งานจริงๆงานเดียวในชีวิตเขา คือ การเป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาที่คิงส์คอลเลจ ปี 1831-1833 และในช่วงนี้เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The principle of Geology รวม 3 เล่ม เป้นการรวบรวมและให้รายละเอียดแนวคิดของฮัตตันอย่างเป็นระบบ โดยศึกษางานของฮัตตันที่เขียนขึ้นใหม่โดยเพลย์แฟร์ หนังสือของเขาได้ตีพิมพ์ถึง 12 ครั้ง ในช่วงชิวิตของเขา
ระหว่างยุคของฮัตตันกัลไลเยลล์ เกิดข้อถกเถียงระหว่าง กลุ่มคาทาสโทรฟิสม์(catastrophism) กับยูนิฟอร์มิทาเรียนิสม์(uniformitarianism) กลุ่มคาทาสโทรฟิสม์เชื่อว่ารูปร่างของโลกเกิดจากหายนภัยอันรุนแรงและเฉียบพลัน ที่เชื่อกันมากคือน้ำท่วม กลุ่มพระอย่างบัคแลนด์จะชอบคาทาสโทรฟิสม์มาก เพราะมันสอดคล้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในยุคของโนอาห์ในไบเบิ้ล กลุ่มยูนิฟอร์มิทาเรียนิสม์เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นค่อยเป็นค่อยไป กระบวนการเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นช้าๆต้องใช้เวลายาวนานมาก ฮัตตันอาจเป็นบิดาของความเชื่อนี้มากกว่าไลเยลล์ แต่คนส่วนมากอ่านงานของไลเยลล์ ทุกคนจึงคิดว่าเขาคือบิดาแห่งธรณีวิทยายุคใหม่
ไลเยลล์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกมีรูปแบบเดียวและคงที่ ทุกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน เขาไม่สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า แนวสันเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และไม่ยอมรับแนวความคิดของอกาสซิส เรื่องยุคน้ำแข็ง ไม่เชื่อว่าธารน้ำแข็งเป็นตัวการทำให้เปลือกโลกเปลี่ยนแปลง เขาปฏิเสธความคิดที่ว่าสัตว์และพืชต่างสูญพันธุ์ในเวลาอันสั้นเพราะความหนาวเย็น และเชื่อว่าสัตว์สำคัญๆในโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน ปลา และอื่นๆ ล้วนดำรงอยู่มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งความคิดทั้งหมดนี้พิสูจน์ได้แล้ว่าผิด
นักธรณีวิทยาพยายามแยกแยะชั้นหินโดยใช้ช่วงเวลาที่มันเกิด จึงเกิดข้อโต้แย้งอันยาวนานรู้จักกันดีในชื่อข้อโต้แย้งดีโวเนียนอันยิ่งใหญ่(Great Devonian Controverdy) เมื่อสาธุคุณอดัม เซดจ์วิก แห่งเคมบริดจ์ อ้างว่าชั้นหินที่เมอร์ชิสันเชื่อว่าอยู่ในยุคไซลูเรียน(ราว 405-425 ล้านปีมาแล้ว) ที่จริงแล้วอยู่ในยุคแคมเบรียน(ราว 500-544 ล้านปีมาแล้ว) การต่อสู้ทางความคิดได้ยุติลงด้วยการตั้งยุคใหม่ขึ้นมา คือยุคออร์โดวิเชียน(ราว 425-500 ล้านปีมาแล้ว) แทรกระหว่างยุคไซลูเรียนและแคมเบรียน ทุกวันนี้มีการแบ่งยุคทางธรณีวิทยาออกเป็น 4 มหายุค(era) คือ พรีแคมเบรียน พาลีโอไอโซอิก เมโสโซอิก ซีโนโซอิก และทั้ง 4 มหายุค ยังแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ เช่น ยุคครีเตเชียส จูราสสิค ไตรแอสสิค ไซลูเรียน และอื่นๆ
นักธรณีวิทยาสมัยนั้นพยายามคิดหาวิธีคำนวณอายุของโลก และได้นำเสนอแนวความคิดหลายอย่าง แต่ไม่มีใครยอมรับ แม้แต่ลอร์ดเคลวินผู้ยิ่งใหญ่(William Thomson) ซึ่งเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง ก็ไม่สามารถคำนวณหาอายุที่ถูกต้องของโลกได้

5/7/51

ลาก่อน

ในช่วงต้นทศวรรษ 1680 บนเกาะมอริเซียส ในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกโดโด สัตว์ในวงศ์เดียวกับนกพิราบที่มีลักษณะอวบ ไม่อร่อย สูงเกินสองฟุตครึ่งเล็กน้อย บินไม่ได้จึงทำรังบนพื้นดิน ทำให้ไข่และลูกของมันกลายเป็นเหยื่อของหมู สุนัข และลิง ที่คนภายนอกพาเข้ามาบนเกาะ มีนิสัยไม่ฉลาด ไว้ใจคนง่าย และการที่มีขาเก้งก้างที่ไม่มีพลัง ทำให้มันเป็นเหยื่อที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ หลังจากนั้น 70 ปี นกโดโดสตาฟฟ์ตัวเดียวที่เหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็ถูกโยนเข้ากองไฟเพราะมันขึ้นรามีกลิ่นเหม็นอับมาก

นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพันธ์เดียวที่สามารถค้นพบสิ่งมีชีวิตจากสวรรค์ที่ลึกลับที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายมันจนสูญสิ้นไป ทั้งที่ไม่มีจุดประสงค์อะไร (เพื่อกินเป็นอาหาร) และทั้งที่มันก็ไม่เคยทำอันตรายแก่เราเลย และมันจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งที่เราทำกับมันแม้แต่น้อย ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้ผ่านการฝึกฝนทำลายล้างสิ่งมีชีวิตอื่นจนหมดสิ้นไม่มีเหลือมานานหลายพันปี ไม่ว่ามนุษย์จะไปที่ไหนก็มีแนวโน้มว่าสัตว์ที่นั่นจะมีจำนวนลดน้อยถอยลงไป และบ่อยครั้งที่พวกมันหายไปเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ เช่น สัตว์ใหญ่ราวสามในสี่หายไปจากทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ส่วนในทวีปออสเตรเลียมันสูญพันธุ์ไปไม่น้อยกว่า 95%

เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกล่าสัตว์ซึ่งมีจำนวนน้อยจะล่าสัตว์ที่มีประชากรมากมายได้ (จากการคาดกันว่าที่ราบทุนดรา ทางเหนือของไซบีเรียเพียงแห่งเดียว มีซากช้างแมมมอสกว่าสิบล้านตัวถูกแช่แข็งอยู่) คงต้องมีคำอธิบายอื่นที่เป็นสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือโรคติดต่อบางชนิด

ทุกวันนี้โลกทั้งโลกมีสัตว์บกตัวใหญ่มากๆ เหลือรอดอยู่เพียงสี่ชนิดเท่านั้น (ช้าง แรด, ฮิปโป และยีราฟ) และในเวลาแค่ไม่กี่สิบล้านปี สิ่งมีชีวิตบนโลกจะมีขนาดเล็กลงและดุร้ายน้อยลงมาก

ในอดีตอัตราการสูญพันธ์บนโลกโดยเฉลี่ยเท่ากันทุกๆ สี่ปี สิ่งมีชีวิตสูญพันธ์ไปหนึ่งชนิด แต่ในปัจจุบันพบว่า การสูญพันธุ์ที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์สูงกว่านั้นถึง 120,000 เท่า เช่น สาเหตุจากความโหดร้ายป่าเถื่อนของมุษย์จากความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ เป็นต้น โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีความสนใจสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างยิ่งยวดยาวนานที่สุด (นักสะสมด้านวิทยาศาสตร์) กลับกลายเป็นผู้มีแนวโน้มที่จะทำลายมันมากที่สุด รวมทั้งการตั้งเงินรางวัลของรัฐในการจับ"สัตว์ที่เป็นภัย" (อันหมายถึง สัตว์แทบทุกนิดที่ไม่ได้โตในฟาร์มหรือเป็นสัตว์เลี้ยง)

2/7/51

กำเนิดชีวิต


เมื่อนำกรดอะมิโนมาเรียงต่อกัน ร่างกายของมนุษย์ต้องการโปรตีนปริมาณมาก ซึ่งอาจมากถึง 1 ล้านชนิด โปรตีนเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ฮีโมโกรบินคือกรดอะมิโนที่ยาวเพียง 146 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นโปรตีนที่มีขนาดเล็ก โปรตีนในร่างกายมีหลายแสน หลายล้านชนิด แต่ละชนิดล้วนมีความสำคัญต่อการดูแลตัวเราให้มีความสุขและมีความแข็งแรง แต่โปรตีนที่มีประโยชน์ไม่เพียงแต่มาจากกรดอะมิโนที่เรียงตัวกันอย่างถูกต้องตามลำดับเท่านั้น แต่มันสร้างตัวเองให้มีรูปร่างพิเศษ แม้จะสร้างตัวเองให้มีความให้มีความซับซ้อนทางโครงสร้างได้ แต่โปรตีนก็ยังไม่มีประโยชน์ต่อเราถ้ามันจำลองตัวเองไม่ได้ ในการจำลองตัวเองของโปรตีนต้องอาศัยดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอสามารถจำลองตัวเองได้แต่ต้องอาศัยโปรตีนอาจกล่าวได้ว่าโปรตีนมีชีวิตอยู่ไม่ได้หากขาดดีเอ็นเอและดีเอ็นเอก็ไม่มีความหมายอะไรหากปราศจากโปรตีน พวกมันน่าจะเกิดมาพร้อมๆกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ริชาร์ด ดอว์คินส์ กล่าวว่า กระบวนการคัดเลือกที่ทำให้กรดอะมิโนมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน บางครั้งอาจจะมีกรดอะมิโน 2 หรือ 3 ตัวมาเชื่อมต่อกัน เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ไปเจอกับกรดอะมิโนอีกก้อนหนึ่งที่เหมือนกันความก้าวหน้าก็เพิ่มขึ้น
โมเลกุลในธรรมชาติจำนวนมากมารวมกันเกิดเป็นห่วงโซ่ยาวเรียกว่าพอลิเมอร์ น้ำตาลรวมตัวกันเกิดเป็นแป้ง ความซับซ้อนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ คริสเตียน เดอ ดูฟ (Christian de duve) นักชีวเคมี กล่าวว่าปรากฏการณ์ของสสารที่มีลักษณะจำเพาะและจะเกิดขึ้นในที่ใดก็ตามที่มีสภาวะเหมาะสม ถ้าจะสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่จะต้องมีธาตุหลักเพียง 4 ชนิด คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และไนโตรเจน กับธาตุอื่นๆอีก 2 - 3 ชนิดในปริมาณเล็กน้อย เมื่อเอาธาตุเหล่านี้มารวมกัน ทำให้เกิดน้ำตาล กรด และสารประกอบพื้นฐานอื่นๆ ก็จะสามารถสร้างอะไรก็ได้ที่มีชีวิต
ในทศวรรษ 1950 เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตเกิดมาไม่ถึง 600 ล้านปี พอทศวรรษ 1970 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าชีวิตกำเนิดขึ้นเมื่อ 2.5 พันล้านปี แต่ในปัจจุบัน คือ 3.85 พันล้านปี ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วมาก เพราะโลกเพิ่งแข็งตัวเมื่อราว 3.9 พันล้านปี
สตีเฟน เจย์ กูลด์(Stephen jay Gould) สรุปว่าการที่ชีวิตเกิดขึ้นทันทีที่มันทำได้เป็นเพราะในทางเคมีมันถูกกำหนดให้เป็นเช่นนั้น ลอร์ด เคลวิน (William Thomson Kelvin) กล่าวว่า อุกกาบาตอาจเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตมาสู่โลก
ในโลกยุคอาร์เคียน สิ่งมีชีวิตพวกแบคทีเรียไซอะโน หรือสาหร่ายสีน้ำเงินเขียวดุดซึมโมเลกุลน้ำเข้าไป กินไฮโดรเจนแล้วคายออกซิเจนออกมาทำให้เกิดการสังเคราะห์แสง เมื่อไซอะโนแบคทีเรียแพร่พันธ์ออกไปโลกเต็มไปด้วยออกซิเจน ออกซิเจนรวมกับธาตุเหล็กเกิดเป็นเหล็กออกไซด์และจมลงสู่ก้นทะเลดึกดำบรรพ์ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบล้านปี เหล็กออกไซด์ กลายเป็นสินแร่เหล็กแก่โลก
เมื่อราว 3.5 พันล้านปี ไซอะโนแบคทีเรียตัวเริ่มเหนียวแล้วความเหนียวไปจับกับไมโครอนุภาคของฝุ่นและทราย เกิดเป็นโครงสร้างใหม่ที่มีความแข็งแกร่งคือสโตรมาโทไลต์ ซึ่งมีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย(ปัจจุบันพบสโตรมาโทไลต์ ที่อ่าวชาร์คเบย์ของออสเตรเลีย ไซอะโนแบคทีเรียที่อ่าวชาร์คเบย์ มีวิวัฒนาการช้าสุด) เซลล์ชนิดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อทุกอย่างพร้อม คือออกซิเจนมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับปัจจุบัน เซลล์ชนิดใหม่ประกอบด้วยนิวเคลียสและองค์ประกอบเล็กๆอื่นเรียกว่าออร์แกเนลล์ ทำให้เกิดไมโทรคอนเดรีย(ในพืชทำให้เกิดคลอโรพลาสต์ ทำให้พืชสามารถสังเคราะห์แสงได้) ไมโทรคอนเดรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก
ไมโทรคอนเดรียชนิดใหม่ชื่อว่ายูแคริโอต(แปลว่ามีนิวเคลียสจริงๆ) และไมโทรคอนเดรียชนิดเก่าชื่อว่า โพรแคริโอต(ก่อนที่จะมีนิวเคลียส)ยูแคริโอตที่เก่าแก่ที่สุดคือกริพาเนียถูกค้นพบในตะกอนธาตุเหล็กในมลรัฐมิชิแกน ปี 1992
เมื่อเปรียบเทียบโพรแคริโอตชนิดเก่ากับยูแคริโอต พบว่ายูแคริโอตมีขนาดใหญ่กว่าและมีความซับซ้อนมากกว่า 1 หมื่นเท่าและมีดีเอ็นเอมากกว่า 1 พันเท่า แล้วระบบที่ชีวิตถูกกะเกณฑ์ด้วยรูปแบบชีวิต 2 ชนิด คือ สิ่งมีชีวิตที่คายออกซิเจน(พืช)กับสิ่งมีชีวิตที่หายใจเอาออกซิเจนเข้าไป ก็วิวัฒนาการขึ้นช้าๆ

มาแล้วปรากฏการณ์ตะกั่ว


ในปี 1921โธมัส มิดกลีย์ จูเนียร์ นักประดิษฐ์ชาวโอไฮโอ ขณะที่กำลังทำงานให้กับบริษัทวิจัยของเจเนอรัลมอเตอร์ มีความสนใจประยุกต์ใช้เคมีในอุตสาหกรรม เขาพบว่า สารประกอบ เตตราเอทิลเลด ช่วยลดการสั่นของเครื่องยนต์ ที่เรียกว่าเครื่องน็อกได้อย่างดี ในต้นศตวรรษที่ 20 จะพบตะกั่วในสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด เช่นอาหารบรรจุในกระป๋องที่ปิดด้วยฝาตะกั่ว ถังเก็บน้ำเคลือบตะกั่ว การใช้ตะกั่วอาร์เนตฉีดพ่นบนผลไม้เพื่อฆ่าแมลง เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของยาสีฟัน และผสมลงในน้ำมันรถ เพราะตะกั่วนั้นสกัดและใช้งานง่าย ในปี 1923สามบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา คือ เจเนอรัลมอเตอร์ ดูปองต์ และสแตนดาร์ดออยล์ออฟนิวเจอร์ซีย์ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ เอทิลคอร์เปอเรชัน เพื่อผลิต เตตราเอทิลเลด ให้ได้มากที่สุด พวกเขาเรียกสารที่ใช้เติมไปในน้ำมันว่า เอทิล เพราะฟังดูเป็นมิตรและเป็นพิษน้อยกว่าตะกั่ว และนำเข้าสู่ตลาดการบริโภคของสาธารณชนด้วยวิธีการ หลากหลายกว่าที่คนส่วนใหญ่จะรู้เท่าทัน เกือบทันที่ที่ผลิต คนงานก็เริ่มเดินตุปัดตุเป๋และมีอาการเมาซึ่งเป็นอาการของพิษตะกั่วในระยะแรก แต่ทางบริษัทใช้นโยบายวางเฉย ชารอนเบิร์ต แมคเกรย์น (Sharon Bertsch Mcgrayne) เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เคมีเรื่อง Prometheans in the Lab ว่ามีลูกจ้างของโรงงานแห่งหนึ่งมีอาการประสาทหลอนแก้ไม่หาย แต่บริษัท ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเสียสติเพราะทำงานหนักเกินไป และมีคนงานตายในช่วงแรกของการผลิตน้ำมันที่มีสารตะกั่ว และอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ป่วย แต่มีการปิดข่าว แต่ครั้งที่ดังที่สุดคือ ปี 1924เมื่อคนงานในสายการผลิต ตายห้าคนติดต่อกันภายในเวลาไม่กี่วัน และอีกสามสิบห้าคนเสียการทรงตัว เมื่อมีข่าวลือเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นจนทำให้ โธมัส มิดกลีย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเตตราเอทิลเลด ก็ตัดสินใจสาธิตให้ผู้สื่อข่าวเห็น โดยการเท เตตราเอทิลเลดลงบนมือของตนเองและยกสารนั้นจ่อดมที่จมูกนาน 60วินาที เขาอ้างว่า
เขาสามารถทำสิ่งนี้ทุกวันโดยไม่มีอันตรายใดๆ เพื่อยั้บยั้งข่าวลือ แต่จริงๆแล้ว โธมัส มิดกลีย์ รู้ดียิ่งกว่าใครว่าพิษภัยของตะกั่วนั้นอันตรายแค่ไหน เขาเคยป่วยหนักเพราะสัมผัสกับตะกั่วมากเกินไป (สารตะกั่วเป็นสารพิษต่อระบบประสาท ถ้าได้รับมากเกินไป สมองและระบบประสาทส่วนกลางจะถูกทำลายถาวร อาการอื่นๆของการได้รับตะกั่วมากเกินไปก็คือตาบอด นอนไม่หลับ ไตวาย สูญเสียการได้ยิน มะเร็ง กล้ามเนื้อเป็นอัตพาตสั่นเกร็ง ผลที่เฉียบพลันที่สุดคืออาการประสาทหลอนและจะตายในที่สุด)
หลังจากประสบผลสำเร็จของน้ำมันใส่สารตะกั่ว ต่อมาในปี 1929 มีเหตุการณ์ตู้เย็นที่โรงพยาบาลในคลีฟแลนด์ รัฐโฮไอโอ เกิดรั่วซึมทำให้คนตายมากกว่าร้อยคนเพราะก๊าซที่บรรจุภายในนั้นอันตราย โธมัส มิดกลีย์ จึงหันมาสนใจที่จะสร้างก๊าซที่เสถียร ไม่ติดไฟ ไม่เป็นกรด และสูดดมได้ และเขาก็สามารถที่ประดิษฐ์คิดค้น สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ ที่เราเรียกกันว่า สาร CFC ขึ้นสำเร็จเป็นบุคคลแรก ทำให้ในต้นทศวรรษที่ 1930 สาร CFC เริ่มผลิตและค้นพบวิธีประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย เช่น แอร์รถยนต์ สเปรย์ดับกลิ่นกาย เป็นต้น หลังจากนั้นประมาณครึ่งศตวรรษมนุษย์จึงรู้ว่า การนำสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน มาใช้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีสักนิด เพราะมันทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หนึ่งกิโลกรัม สามารถจับและทำลายโอโซนในบรรยากาศได้ถึง 70,000 กิโลกรัม และ ยังแขวนลอยอยู่ได้นานประมาณหนึ่งศตวรรษโดยเฉลี่ย นอกจากนี้สาร CFC ยังเป็นตัวกักความร้อนที่ดีมากอีกด้วย สาร CFCหนึ่งโมเลกุลมีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกได้มากกว่าโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงหนึ่งหมื่นเท่า ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน สารประกอบ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ได้รับการพิสูจน์ขั้นสุดยอดว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษที 20แต่น่าเสียดายที่โธมัส มิดกลีย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเป็นไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่า สิ่งที่เขาประดิษฐ์คิดค้นมา ขณะนี้ส่งผลทำลายล้างต่อโลกใบนี้มากแค่ไหน เพราะเขาตายไปก่อนที่ใครๆจะตระหนักว่าสาร CFC มีผลต่อการทำลายโอโซนและสิ่งแวดล้อมในโลกมาเป็นเวลานาน และการตายของเขาก็เป็นเรื่องร่ำลือไม่ธรรมดาเพราะก่อนตายเขากลายเป็นคนง่อยและเขาก็ประดิษฐ์เครื่องมือที่มีมอเตอร์และรอกเพื่อช่วยยกหรือพลิกเขาเวลาอยู่บนเตียงได้โดยอัตโนมัติ แต่ต่อมาในปี 1944 เขาก็โชคร้ายเพราะเขาติดอยู่กับสายของเครื่องขณะที่เครื่องกำลังทำงาน จึงทำให้สายของเครื่องรัดคอเขาตายในที่สุด

28/6/51

จากปรัชญาสู่วิทยาศาสตร์

ผู้รู้นักวิชาการในกรีกโบราณเป็นบุคคลแรกที่เราทราบที่ใช้ความพยายามเพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจักรวาล ด้วยระบบการรวมรวมความรู้ผ่านทางกิจกรรมการให้เหตุผลของมนุษย์เพียงลำพัง ใครก็ตามที่พยายามค้นแสวงหาเหตุผลเพื่อความเข้าใจ โดยไม่ต้องอาศัยปัญญาญาณ (intuition) ความบันดาลใจ (inspiration) วิวรณ์ (revelation) หรือการทำสิ่งที่ทำให้รู้กัน หรือแหล่งสารสนเทศที่ไม่มีเหตุผล จะเรียกบุคคลดังกล่าวนี้ว่านักปรัชญา (คำในภาษากรีกหมายถึง ผู้รักในความรู้ (lovers of wisdom))

ปรัชญาสามารถคิดให้เป็นเรื่องภายในของการแสวงหาความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ จริยศาสตร์ และศิลธรรม การกระตุ้นชักจูงและการตอบสนอง หรือเป็นเรื่องภายนอกจากการศึกษาค้นคว้าจักรวาลส่วนที่อยู่นอกเหนือเขตแดนของจิตที่ไม่มีตัวตน ได้แก่ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ

นักปรัชญาที่ศึกษาในประเภทหลังเรียกว่าเป็นนักปรัชญาธรรมชาติ และเป็นเวลาหลายศตวรรษหลักจากยุคเริ่มต้นของกรีก การศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติก็เรียกกันว่าปรัชญาธรรมชาติ ส่วนคำสมัยใหม่ที่นำมาใช้แทนได้แก่ วิทยาศาสตร์ (science) เป็นคำในภาษาลาตินแปลว่า to know ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมใช้กันมากนัก จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 แม้แต่ปัจจุบันเป็นที่มาของปริญญาสูงสุดในมหาวิทยาลัยที่ให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปว่า Doctor of Philosophy

วิทยาศาสตร์กับศาสนา

วิทยาศาสตร์จะยืนยันเฉพาะเพียงความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอยู่โดยรอบที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ส่วนศาสนาเกี่ยวข้องเฉพาะการประเมินความคิด และการกระทำของมนุษย์ ศาสนาไม่เอ่ยพาดพิงถึงข้อเท็จจริง การที่กล่าวว่า ทุกเรื่องในคัมภีร์เป็นจริงโดยไม่มีข้อโต้แย้งแสดงว่าศาสนาส่วนหนึ่งได้แทรกแซงเข้าไปในโลกวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการต่อสู้ในบางกรณี ระหว่างศาสนาหรือโบสถ์กับทฤษฎีของกาลิเลโอ และชาร์ล ดาวิน แต่ในที่สุดในฝ่ายศาสนาก็จำยอมตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจฝืนความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้

อย่างไรก็ตามศาสนาก็เป็นตัวการกำหนดจุดหมายสูงสุดแห่งการดำรงค์อยู่ของมนุษย์ ที่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีจุดหมายที่แน่ชัดถึงการดำรงอยู่ และวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งได้ แล้วมักจะเกิดปัญหาใหม่ขึ้นเสมอยังไม่สามารถหาจุดที่สมบูรณ์ที่สุด และเช่นเดียวกันศาสนาก็ต้องเรียนรู้จากวิทยาศาสตร์ในบางอย่าง ถึงวิธีการที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายที่กำหนดไว้ ดังเช่นไอน์สไตย์เคยกล่าวไว้ว่าวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาก็เหมือนคนเป็นง่อย ศาสนาที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ก็ไปไม่ได้เช่นกัน

วิทยาศาสตร์จะสร้างขึ้นได้ก็ต้องอาศัยผู้มีความรักและศรัธา ด้วยความเชื่อในความจริง มีความเข้าใจอย่างมั่นคง มีความซาบซึ้งเข้าถึงสัจธรรมอันถือกำเนิดจากที่เดียวกับศาสนา เมื่อพิจารณาสิ่งที่เป็นธรรมชาติรวมทั้งตัวมนุษย์เองในทางวิทยาศาสตร์ได้แตกแขนงออกไปจากปรัชญาธรรมชาติมากมาย จึงไม่ต้องสงสัยว่าในทางศาสนาจะเรียกเพียงว่าธรรม อันรวม่ถึงกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติต่างๆ ก็เรียกว่าธรรม แต่ทางศาสนามักจะเน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสงบสุขทั้งต่อตัวเองและสังคมโดยรวม ก็เรียกว่า ธรรมเช่นกัน

ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดูเหมือนว่าคำว่าเดิมที วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคำสองคำที่มีความหมายแตกต่างกัน และส่วนมากก็ใช้แยกกัน ในบางครั้งที่ใช้ร่วมกัน ปัจจุบันมักได้ยินคำทั้งสองใช้ด้วยกันมากขึ้นทั้งนี้เพราะคำทั้งสองคำนี้มีความเกี่ยวข้องกัน อาจทำให้หลายคนคิดว่ารวมเป็นคำเดียวและใช้ควบคู่กันเสมอ ดังจะเห็นว่าคณะในมหาวิทยาลัยมักจะมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิชาในสาขาวิทยาศาสตร์อย่างเดียวจะเป็นความรู้มูลฐาน โดยนักวิทยาศาสตร์จะศึกษาค้นคว้าความรู้ดังกล่าวเพื่อสนองตอบต่อความใคร่รู้ความอยากรู้อยากเห็น โดยไม่ได้คิดหวังผลประโยชน์จากการนำความรู้ไปใช้ ที่มีการเผยแพร่และสารณะชนสามารถนำไปใช้ได้ฟรีจัดเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) ส่วนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied science) นั้นนำความรู้จากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานะการณ์หรือปรากฏการใดปรากฏการหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจและเป็นประโยชน์สนองความต้องการของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กลายเป็นศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร วิศวกรรม เภสัชกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์ประยุกต์ก็ยังเป็นเพียงความรู้ที่ได้ยากการศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาแนวทางในการใช้ประโยชน์ เช่นนักเคมีสกัดสารบางอย่างจากต้นไม้หรือสมุนไพรในการศึกษาโครงสร้างต่างๆ ของต้นไม้เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ แต่เมื่อนักเคมีหรือเภสัชกรศึกษาการนำสารสกัดดังกล่าวดูว่าจะใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง หรือนำไปสังเคราะห์เป็นส่วนผสมในน้ำยาทำความสะอาดใดบ้าง เป็นขั้นตอนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีการทดลองทำให้แน่ใจว่าใช้รักษาโรคได้ ใช้เป็นสารทำความสะอาดได้จริง แต่เมื่อไรที่ไปถึงขั้นของการผลิต เพื่อจำหน่ายหรือใช้ประโยชน์ทางธุรกิจการค้า ที่ต้องอาศัยขั้นตอนกรรมวิธีในการผลิตก็จะกลายเป็นเทคโนโลยี (Technology)

คำว่า Technology มาจากคำภาษาอังกฤษ และคำนี้มาจากภาษากรีกคือ Technologia ซึ่งเดิมหมายถึงการกระทำที่เป็นระบบที่ก่อให้เกิดกรรมวิธีในการผลิต และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ดังนั้นความหมายของเทคโนโลยีจึงเปลี่ยนไปเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล ประดิษฐกรรมใหม่ๆ และการอุตสาหกรรมดังที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ความพยายามที่จะให้นิยามขอบเขตของคำว่าเทคโนโลยีที่น่าตรงตามสภาพปัจจุบัน คือความรู้ทางเทคนิคที่ใช้สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรม และยังให้ความหมายครอบคลุมไปถึงความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม เช่นการสร้างเขื่อน การส่งยานอวกาศ และการดำเนินชีวิตในประจำวัน ดังนั้นจึงมีความหมายกว้างๆ ของคำว่าเทคโนโลยีคือ ความรู้ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์เองในการสนองความต้องการ และการควบคุมสิ่งแวดล้อม ตามความหมายประการหลังน่าจะครอบคลุมเพราะไม่ว่าจะผลิตอะไรก็ต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ที่รวมไปถึง การใช้แรงงานและพลังงาน ในการสร้างเขื่อนก็ควบคุมน้ำการไหลของน้ำโดยการกักเก็บน้ำไว้ เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นต้น

การแบ่งแยกและการใช้ร่วมกันของคำว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อมองในแง่ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะจะเกิดเทคโนโลยีขึ้นได้อยาถ้าไม่มีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มาก่อน และในบางครั้งเมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์แล้ว จะครอบคลุมรวมไปถึงเทคโนโลยีด้วย ดังที่เคยมีนิยามกันว่าเทคโนโลยีก็คือการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ และเป็นผลของวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เป็นความลับที่ไม่อาจเปิดเผยให้คู่แข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าทราบ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันในท้องตลาดใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็จะเป็นผู้มีอำนาจมีอิทธิพลต่อโลกได้

เมื่อมองกันในแง่ว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ก็ถือว่าเป็นความรู้ดังที่กล่าวกันเสมอว่าความรู้คือพลัง (knowledge is power) ซึ่งความรู้อาจแบ่งออกเป็นความรู้เชิงประกาศ (declarative knowledge) และความรู้เชิงกระบวนการ (procedural knowledge) และความรู้ประการหลังน่าจะเป็นความรู้ทางเทคโนโลยี สอดคล้องกับกล่าวกันว่าการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติที่จะให้ได้ผลดีก็ต้องมีทั้งความรู้และความสามารถที่จะนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางปฏิบัตินั่นเอง

จักรวาลของไอน์สไตน์

ตอนปลายศตวรรษที่สิบเก้านักวิทยาศาสตร์ต่างครุ่นคิดว่าเรื่องลึกลับทางกายภาพต่าง ๆ ได้เรียนรู้ไปหมดแล้วไม่ว่าที่เกี่ยวข้องกับสสารและพลังงานซึ่งคงไม่เหลืออะไรไว้ให้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นหาอีกแล้ว แต่ในปี1875 Max Planck ได้ตัดสินใจที่จะศึกษาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับเทอร์โมไดมิกส์ เขาทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนรู้เรื่องของเอนโทรปี (วิธีวัดว่าภาวะหนึ่ง ๆ มีความไม่เป็นระเบียบมากแค่ไหน และเป็นตัวบอกความน่าจะเป็น) แต่การศึกษาของ Planck ก็มี J. Willard Gibbs ได้ศึกษาไว้แล้วโดยผลิตเป็นงานเขียน ชื่อ On the Equilibrium of Heterogeneous Substance (ว่าด้วยสมดุลของสารที่ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน) ซึ่งได้แจงให้เห็นหลักการเกือบทั้งหมดของเทอร์โมไดนามิกส์ว่าไม่ได้ประยุกต์แค่เรื่องของความร้อนและพลังงาน แต่ยังมีผลในระดับอะตอมของปฏิกิริยาเคมีด้วย แต่ผลงานของ J. Willard Gibbs ก็ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ในทศวรรษ 1880 Albert Michelson ได้ช่วยช่วยเพื่อนนักเคมีคนหนึ่งชื่อ Edward Morley ทำการทดลองชุดหนึ่งที่ให้ผลออกมาแบบไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเชื่อว่า อีเธอร์ เป็นตัวกลางอย่างหนึ่งที่เสถียร มองไม่เห็นไร้น้ำหนัก และแยกกันไม่ได้ เป็นตังกลางที่แผ่กระจายอยู่ทั่วจักรวาล สามารถนำแสงได้ เพราะแสงและสนามแม่เหล็กไฟฟ้ายังถูกมองว่าต้องมีการสั่นแบบคลื่น ดังนั้นมันจึงจึงสั่นอยู่บนอีเธอร์ ความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็น เดสการ์ด นิวตัน หรือแม้กระทั่ง J.J. Thomson ก็ยังยืนยันว่า อีเธอร์ไม่ใช่แค่สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการคาดการณ์ของนักปรัชญาเท่านั่น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราเช่นเดียวกับอากาศที่เราหายใจกันอยู่ทีเดียว Michelson ได้ศึกษา อีเธอร์อยู่หลายปี โยความช่วยเหลือของ Morley จนเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นคนแรกของชาวอเมริกัน
ในปี 1990 Max Planck ได้เปิดประตูสู่ยุคของควอนตัม ที่ช่วยในการแก้ไขปริศนาของการทดลองของ Michelson และ Morley โยแสดงให้รู้ว่า แสงไม่จำเป็นต้องเป็นคลื่นเสมอไป ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับฟิสิกส์ยุคใหม่ทั้วหมดที่กำลังจะเปลี่ยนโลก
ในปี 1905 โลกได้พบกับฟิสิกส์ยุคใหม่เมื่อค้นพบงานเขียนของข้าราชการหนุ่ม ชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ใน Annlen der Physik ซึ่งล้วนเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์ กล่าวคือ การตรวจสอบผลทางโฟโตอิเล็กตริกด้วยการใช้ทฤษฏีควอนตัมของแพลงค์ ซึ่งยังเป็นทฤษฎีใหม่ พฤติกรรมของอนุภาคเล็ก ๆ ที่แขวนลอยอยู่ในของเหลว (ซึ่งปัจุบันเรียกว่าการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน) และที่เด่นที่สุด คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ โดยเฉพาะงานชิ้นแรกทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล มันอธิบายธรรมชาติของแสง เหนืออื่นใดทฤษฎีพิเศษนี้ได้แสดงให้เห็นว่าความเร็วของแสงนั้นคงที่และสูงสุดไม่มีอะไรชนะมันได้ พร้อมกันนั้นมันช่วยแก้ปัญหาเรื่องอีเธอร์ในจักรวาลได้ โดยอัลเบิร์ตไอน์สไตน์ ได้มอบจักรวาลที่ปราศจากอีเธอร์ให้แก่เรา
หลังจากนั้นไม่นาน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เริ่มคิดถึงปัญหาเรื่องแรงโน้มถ่วงเนื่องจากทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ไม่ได้คิดถึงแรงโน้มถ่วงเลย เพราะที่มัน “พิเศษ” เพราะพูดถึงสิ่งที่เคลื่อนที่อยู่ในภาวะที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงเลย ทำให้เป็นปัญหาที่เขาต้องคิดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง ปี 1917 จึงเกิดงานเขียนที่ชื่อว่า “การพิจารณาทางจักรวาลวิทยาว่าด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป”
ในปี 1919 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เริ่มมีชื่อเสียงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเพราะโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพูดถึง คืออวกาศและเวลานั้นไม่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ แต่สัมพันธ์กันทั้งระหว่างผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งต่อมีผู้พยายามอธิบายมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจักรวาลที่จะต้องขยายตัวหรือหดตัว และในปีนี้เองที่คนเก่งอย่าง Edwin Hupple ที่พยายามศึกษาข้อสงสัยว่าจักรวาลอายุเท่าไร และใหญ่แค่ไหน Hupple เริ่มต้นศึกษาโยวัดสเปกตรัมของกาแลคซี่ที่อยู่ห่างไกลและเขาสามารถคำนวณออกมาได้ว่ากาแลคซี่ทั้งหมดในท้องฟ้ากำลังเคลื่อนที่ออกห่างเรา ยิ่งกว่านั้น ความเร็วและระยะทางยังเป็นสัดส่วนต่อกันกล่าวคือยิ่งกาแลคซี่ที่อยู่ห่างไกลออกไปมันยิ่งเคลื่อนที่ได้เร็วมากเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจักรวาลกำลังขยายตัว รวดเร็ว และทุกทิศทาง แต่น่าเสียดายที่ ฮับเบิลให้ความสนใจทฤษฎีของไอน์สไตน์น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามทั้งฮับเบิล และไอน์สไตน์ได้กระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไว้กับโลกใบนี้แล้ว

กำเนิดวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ในปีคศ. 1560 Giambattista della Porta นักฟิสิกส์ชาวอิตาลีได้ตั้งองค์กรแห่งแรกของโลกในการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เรียกว่าสถาบันศึกษาความลึกลับจากธรรมชาติ ได้จุดประกายแห่งการแลกเปลี่ยนความคิด เป็นสัญญาณบ่งถึงรุ่งอรุณของการคิดค้นในยุด Renaissance โดย Francis Bacon นักปรัชญาชาวอังกฤษเป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษสมัยพระเจ้าเจมที่1 ได้เขียนหนังสือเรื่อง Nvum Organum เป็นงานเขียนแนวใหม่แบบเดียวกับงานเขียนของอริสโตเติลชื่อ Oganum เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้ตั้งหลักเกณฑ์ในรายละเอียด เกี่ยวกับความเป็นจริงจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยเขาได้รับเกียรติให้เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นที่รู้จักว่าเป็น “วิธีการทางวิทยาศาสตร์” ต่อมากาลิเลโอได้ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

ในช่วงสมัย Renaissance เป็นยุคที่เริ่มได้รับการยอมรับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ทัศนะของกาลิเลโอและศาสนจักรเกี่ยวกับเอกภพไม่ได้รับความสนใจมากนัก นักดาราศาสตร์เช่น ไทโคบราเฮ และกาลิเลโอได้ทำการสำรวจ สร้างสมมุติฐานขึ้นมา จากผลของการคิดค้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สมมุติฐานใดที่ยังคงอยู่ได้รับการพิสูจน์ก็จะกลายเป็นทฤษฎี ทฤษฎีที่ผ่านการทดสอบเป็นระยะเวลานานก็จะกลายเป็นกฏหรือหลักการ ทั้งกฏและหลักการยังคงอยู่ผ่านการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเข็มงวดและท้าทายทุกคนใด้เข้ามาพิสูจน์

ศตวรรษที่ 17 และ 18 รัฐบาลของประเทศทางยุโรปเริ่มที่จะให้เงินสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาวิจัย หลังจากที่กาลิเลโอได้ถูกไต่สวนจากทางศาสนจักรแล้ว ทำให้ในประเทศอิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศษ และประเทศเยอรมันมีการเผยแพร่วิทยาศาสตร์ การทดลอง และทฤษฎีจนเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าจะขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาก็ตาม โดยวิธีนี้วิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่ได้พัฒนาการเป็นสถาบัน และมีขั้นตอนวิธีการที่จะใช้ดำเนินงานได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังได้รับความอิสระและปลอดภัยที่จะเจริญเติบโตต่อไป

วิทยาศาสตร์และธรรมเนียมปฏิบัติด้วยเหตุผลได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนอย่างเหมาะสม ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายอย่างแรกสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ชาติ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ได้เปิดใจของเรา และปรับความเชื่อและศรัธาของเราว่าโดดเด่นต่างไปจากสัตว์อื่น

เสรีภาพกับวิทยาศาสตร์

การทำความเข้าใจโลกเอกภพโดยรอบตัวเราเองนั้น จัดได้ว่าเป็นเป้าหมายของวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้การคงอยู่ของสถาบันการศึกษาทั้งหลายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ความอิสระเสรีภาพ และความสมบูรณ์ในทรัพยากรของสังคม เราจำเป็นต้องรู้ถึงการดำรงหล่อเลี้ยงความมีอิสระนี้ ว่าคงต่อไปได้อย่างไร ความก้าวหน้าของมนุษย์ชาติในทุกด้านได้ผู้ติดกับเสรีภาพ ความก้าวหน้าทางปัญญาจะถูกกระทำให้หวั่นไหวเมื่อเสรีภาพในการกระทำและแสดงออกถูกจำกัดลง เมื่อไรที่มีข้อเสนอแนะที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อถือที่ยึดถือกันมาเป็นเวลานาน การตอบสนองของคนจำนวนมากทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระจำกัดลงในทางที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วอย่างจำกัดด้วย ดังนั้นการขาดเสรีภาพและการกลัวการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

การยืนกรานตามข้อกล่าวอ้างที่มีมาก่อนนั้น มีรากฐานมาจากความเชื่อในเรื่องลึกลับ ไม่ใช่มาจากความรู้ตัวในการเสนอความจริง ความลึกลับทำให้เสรีภาพหวั่นไหวมากกว่าการพูดโกหก ซึ่งศรัตรูที่สำคัญของความจริงไม่ใช่เกิดจากการปิดปัง จงใจ เจตนา การไตรตรอง เล่ห์กล และความไม่ซื่อสัตย์ แต่เป็นสิ่งลึกลับ ความไม่รู้ยังคงอยู่สอดแทรกอยู่ทุกหัวระแหงในปัจจุบัน และในทุกที่ที่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดของคนทั่วโลก

เสรีภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฏหมาย แต่ต้องการให้สาธารณะชนเข้าใจและซาบซึ้งกับความคิดอย่างมีเหตุผล เหตุผลจึงเป็นจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ ทันทีที่มีการใช้ระบบเผด็จการหรือคณาธิปไตยที่สอดแทรกไปทั่วชุมชนไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่กระทบ ดังเช่นถ้าสังคมเราละทิ้งซึ่งความมีเหตุผล สังคมใดได้รับหรือสนับสนุนเรื่องที่ไม่มีเหตุผลได้ก็พร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอื่นๆ ได้อีก การเจริญก้าวหน้าทางด้านปัญญา ศิลป และวิทยาศาสตร์คงต้องหยุดลง นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวรัสเซีย ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน Andrei Sakharov (1921-1989) เขาเคยได้เขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า “เสรีภาพทางปัญญาเป็นแก่นหลักของสังคมมนุษย์ เสรีภาพในการคิดเป็นเพียงการประกันได้ว่าไม่ได้ลุ่มหลงมัวเมากับการเชื่อในสิ่งลึกลับ สิ่งซึ่งผู้มีอำนาจและเผด็จการอาจนำไปใช้เป็นเครื่องมือนำมาซึ่งความรุนแรงและการนองเลือด”

ไฟใต้โลก

ไฟใต้โลกเป็นเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับพลวัตของโครงสร้างภายในโลก โดยความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อมูลน้อยมากเมื่อเทียบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ แต่จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของมนุษย์มากทีเดียว
พลวัตของโครงสร้างภายในโลกมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกโดยเฉพาะการระเบิดของภูเขาไฟและการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งหากว่าได้มีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะทำให้สามารถทำนายลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกได้อย่างแม่นยำใกล้เคียงขึ้น
ประเด็นการเริ่มต้นเกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ เกิดจากการพบซากฟอสซิลโดยบังเอิญของนักธรณีวิทยา ชื่อ ไมค์ วัวรีส (Mike Voorhies) สิ่งที่น่าในใจเกี่ยวกับซากฟอสซิลที่พบนี้ พบว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ได้ตายทันทีทั้งหมด พวกมันทุกข์ทรมานกับบางอย่างที่เรียกว่า "ไฮเพอร์โทรฟิก พัลโมนารี ออสทีโอดิสโทรฟี" ซึ่งเป็นอาการที่สูดเอาเถ้าที่ระคายเคืองไปมากๆ เถ้าที่ว่านี้เป็นเถ้าที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่แน่นอนหากจะเกิดการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ ซึ่งจากการคำนวณการปะทุจะเกิดขึ้นทุกๆ 600,000 ปี
สิ่งที่ค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มตื่นตัวในมหันตภัยดังกล่าวจึงเริ่มที่จะหันมาสร้างความเข้าใจภายในของโลกมากขึ้น โดยมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างภายในโลกและพบความรู้ใหม่ๆ เช่น อาร์.ดี. โอลด์แฮม (R.D. Oldham) พบว่าโลกมีแกนกลาง แอนเดรีย โมโฮโรวิซิก (Andria Mohorovicic) ค้นพบพรมแดนระหว่างแผ่นเปลือกโลกกับชั้นที่อยู่ต่ำลงไป ที่เรียกว่า แมนเทิล ปี 1936 อินจ์ เลห์มานน์ (Inge Lehmann) ค้นพบว่าแกนโลกมีสองชั้น
ในปี 1960 นักวิทยาศาสตร์เริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างภายในโลกมากขึ้น เพราะก่อนหน้าที่เราได้รับรู้ถึงอันตรายที่มากับภัยแผ่นดินไหวเป็นอย่างดี เช่น ที่เกิดขึ้นในชิลี ฮาวาย โปรตุเกส ซานฟรานซิสโก และโตเกียว เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจขุดเจาะพื้นมหาสมุทรเพื่อตรวจสอบชั้นแมนเทิลของโลก ซึ่งหากศึกษาเข้าใจธรรมชาติของหินภายในโลกได้ก็จะเริ่มเข้าใจว่ามันมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วก็อาจเป็นไปได้ที่จะทำนายแผ่นดินไหวและเหตุการณ์อื่นๆ ได้ แต่โครงการนี้ก็ล้มเหลว อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์พยายามต่อจนได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลเกินความคาดคิด
นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันทั่วไปว่าโลกข้างใต้เรานั้นประกอบด้วย 4 ชั้น คือ ชั้นแผ่นเปลือกโลกที่เป็นหินแข็งชั้นนอก ชั้นแมนเทิลที่เป็นหินเหลวร้อน แกนกลางชั้นนอกที่เป็นของเหลว และแกนกลางชั้นในที่เป็นของแข็ง แต่ก็มีข้อมูลบางอย่างที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เช่น แต่ละชั้นมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร โลกก่อกำเนิดเปลือกโลกมาได้อย่างไรและเมื่อใด กลุ่มหนึ่งคิดว่ามันเกิดขึ้นฉับพลันทันที ตั้งแต่ยุคต้นๆ ของประวัติศาสตร์โลก บางกลุ่มคิดว่ามันค่อยๆ เกิดขึ้นภายหลัง นอกจากนี้ เคาน์ ฟอน รัมฟอร์ด (Count Von Rumford) ค้นพบว่า แผ่นเปลือกโลกของโลกไม่ได้เคลื่อนที่ไปตามพื้นผิวเท่านั้น แต่ยังเคลื่อนที่ขึ้นลงตามหินร้อนเลื่อนไหลขึ้นและตกจมลงในกระบวนการที่เรียกว่า กระแสการพาความร้อน ทำให้มีการศึกษาและพบข้อมูลเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น แมนเทิลมีองค์ประกอบหลักเป็นหินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เพริโดไทต์ มีปริมาตรถึง 82% และมีน้ำหนัก 65% ของโลก แกนโลกชั้นในกักเก็บความร้อนได้ดีประมาณว่าร้อนพอๆ กับพื้นผิวดวงอาทิตย์ (4,000-7,000 องศาเซลเซียส) แกนกลางชั้นนอกเป็นที่อยู่ของแม่เหล็กโลกและยังรู้อีกว่ามันสามารถกลับขั้วได้ทุกๆ 500,000 ปี การที่โลกมีสนามแม่เหล็กทำให้โลกปลอดภัยจากรังสีคอสมิก โดยมันจะสะท้อนกลับไปในอวกาศทำปฏิกิริยากับอนุภาคในชั้นบรรยากาศจนเกิดเป็นม่านแสงที่เรียกว่า แสงออโรรา
ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องราวภายในโลกก็คือไม่ได้มีการพยายามผสานความรู้ว่าด้วยด้านบนของโลกกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโลก ทั้งที่มีการแจ้งเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การระเบิดของภูเขาไฟ และการเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง อันตรายดังกล่าวไม่ได้มาจากแดนไกลแต่เกิดขึ้นใกล้ตัว มันอยู่ใต้พื้นดินที่เราอาศัยอยู่นี่เอง "ไฟใต้โลก"
ที่มี : โตรม ศุขปรีชาและวิลาวัณย์ ฤดีศานต์ ผู้แปล. ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่งจากจักรวาลถึงเซลล์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร ฯ : วงกลม, 2551.
ช่วงอายุน้ำแข็ง ( ice age )
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นจัด โดยเฉพาะทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ต้องประสบกับช่วงเวลาที่เรียกว่า “ช่วงอายุน้ำแข็งน้อย” ( Littleice Age ) อยู่นานถึง 200 ปี ธารน้ำแข็งทำให้ลักษณะภูมิประเทศของยุโรป เต็มไปด้วยสิ่งผิดปกติที่ไม่สามารถอธิบายได้ในขณะนั้น เช่นพบกระดูกกวางเรนเดียร์จากทวีปอาร์กติกทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หินแกรนิตกลมมนใหญ่ไปอยู่บนที่สูง 3,000 ฟุต ด้านข้างของภูเขาหินปูนของทือกเขาจูรา สวิตเซอร์แลนด์มีหุบเขาลายสลัก ที่ริ้วลายถูกขัดสีจนเรียบ แนวชายฝั่งมีหินถูกทิ้งไว้มากมาย ร่องรอยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเคยมีพืดน้ำแข็งเคลื่อนผ่าน ชาวนาในท้องถิ่นบอกกับ ฌอง เดอ ชาร์ปองทิเอ นักธรรมชาติวิทยา ว่า ก้อนหินกลมมนใหญ่ที่อยู่ข้างทางมาจากกริมเซล ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหินแกรนิต โดยธารน้ำแข็งกริมเซลพัดพาพวกมันมาอยู่สองฟากของหุบเขา เขาเล่าว่าสมัยก่อนธารน้ำแข็งนี้แผ่ขยายยาวไปไกลถึงกรุงเบอร์น
เมื่อชาร์ปองทิเอเสนอความคิดนี้ในที่ประชุมวิทยาศาสตร์ ที่ประชุมกลับไม่รับพิจารณา หลุยส์ อะกัสซิส เพื่อนของเขามีความสงสัยทฤษีนี้อยู่บ้าง ต่อมาก็เข้าใจ อะกัสซิสมีเพื่อนชื่อ คาร์ล ซิมเพอร์ เป็นนักพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นคนคิดคำว่า ช่วงอายุน้ำแข็ง ขึ้นใช้ในปี 1837 เขาเสนอความคิดว่าครั้งหนึ่งน้ำแข็งเคยแผ่ขยายปกคลุมไปทั่ว ครอบคลุมดินแดนมากมายทั้งในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ อะกัสซิสนำความคิดของเขาไปเผยแพร่ทำให้อะกัสซิสมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่ออะกัสซิสประกาศทฤษฎีของเขาในอังกฤษ กลับถูกคัดค้าน ในปี 1846 เขาเดินทางไปบรรยายที่อเมริกา ได้รับการยกย่อง ทำให้เขาตัดสินใจตั้งรกรากในนิวอิงแลนด์ ที่ซึ่งมีฤดูหนาวอันยาวนาน ทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจต่อแนวคิดเรื่องยุคสมัยของความหนาวเย็นที่ยาวนาน หลังจากนั้นอีก 6 ปี คณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกที่ไปกรีนแลนด์รายงานว่า เกือบทั้งหมดของเกาะกรีนแลนด์ปกคลุมด้วยพืดน้ำแข็ง ซึ่งช่วยสนับสนุนทฤษฎีของเขาเป็นอย่างดี
ทศวรรษ 1860 เจมส์ โครลล์ ชาวอังกฤษ ได้เสนอว่า การแปรผันของการโคจรของโลกอาจเป็นสาเหตุให้โลกเข้าสู่ช่วงอายุน้ำแข็ง รูปแบบการโคจรของโลกมีการเปลี่ยนหมุนเวียนจากวงโคจรแบบกลมรี มาเป็นแบบเกือบเป็นวงกลม และเปลี่ยนมาเป็นกลมรีอีก อาจอธิบายการเกิดและการล่าถอยของช่วงอายุน้ำแข็งได้
ทศวรรษ 1990 มิลูทิน มิลันโควิตซ์ นักวิชาการชาวเซอร์เบีย ขยายทฤษฎีของโครลล์ ว่า ขณะโลกเคลื่อนที่ไปในอวกาศ นอกจากเรื่องความแปรผันของความยาวและรูปร่างของวงโคจรแล้ว การทำมุมกับดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจังหวะ เอียงขึ้น ตะแคงลง และแกว่ง ซึ่งมีผลต่อความสั้นยาวและความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังพื้นโลก มิลันโควิตซ์ใช้เวลา 20 ปี ในการคำนวณตาราง
วัฏจักร และเขาเข้าใจถูกต้องว่า ช่วงอายุน้ำแข็งกับการแกว่งของโลกมีความสัมพันธ์กัน
วลาดิมีร์ คอปเพน นักอุตุนิยมวิทยาชาวรัสเซีย-เยอรมัน คิดว่าสาเหตุของช่วงอายุน้ำแข็งจะพบได้ในฤดูร้อนที่หนาวเย็น ไม่ใช่ฤดูหนาว ถ้าอากาศฤดูร้อนเย็นเกินไปจนหิมะที่ตกในบริเวณนั้นไม่ละลาย แสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาก็จะสะท้อนกลับไปมากขึ้น ทำให้อากาศเย็นรุนแรงขึ้นและทำให้หิมะตกมากขึ้น จนเป็นพืดน้ำแข็ง ผืนดินก็จะยิ่งหนาวเย็นเร่งให้น้ำแข็งสะสมมากขึ้นอีก
ช่วงเวลาที่อากาศดี เป็นเพียงวัฏจักรของความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงอายุน้ำแข็ง เรียกกันว่า ช่วงคั่นช่วงอายุย่อยธารน้ำแข็ง พัฒนาการด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การสร้างเมือง การเกิดขึ้นของวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเขียน รวมถึงเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อากาศดี ช่วงคั่นช่วงอายุย่อยธารน้ำแข็งครั้งก่อนหน้านี้ยาวเพียง 8,000 ปีเท่านั้น ช่วงคั่นช่วงอายุย่อยธารน้ำแข็งในยุคปัจจุบันยาวกว่า 10,000 ปี แล้ว นั่นหมายความว่าเรายังอยู่ในช่วงอายุน้ำแข็ง ทุกวันนี้พื้นโลก 10 % ยังคงอยู่ใต้น้ำแข็ง อีก 14 % อยู่ในสภาพหนาวเย็นตลอดกาล น้ำจืดในโลกยุคปัจจุบันอยู่ในรูปของน้ำแข็ง มีพืดน้ำแข็งปกคลุมทั่วทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
ช่วงอายุน้ำแข็งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน หรือควรเรียกว่าสมัยน้ำแข็ง(ice epoch) เริ่มต้นเมื่อราว 40 ล้านปีก่อน ย้อนหลังเลยจาก 50 ล้านปีก่อนไป โลกไม่ได้เกิดช่วงอายุน้ำแข็งเป็นประจำ ความหนาวเย็นยะเยือกครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อราว 2.2 พันล้านปีก่อน ตามมาด้วยอากาศอบอุ่นราว 1 พันล้านปี หลังจากนั้นเกิดช่วงอายุน้ำแข็งอีกครั้งซึ่งใหญ่กว่าครั้งแรก บางคนเรียกยุคนั้นว่ายุคไครโอจีเนียน
(ไครโอเจนเป็นสารทำความเย็น) แต่รู้จักกันดีในชื่อโลกบอลหิมะ(Snowball Earth) บอลหิมะ เกิดจากปริมาณรังสีที่แผ่จากดวงอาทิตย์มาสู่โลกลดลง 6 % การผลิตหรือการคงไว้ของก๊าซเรือนกระจกลดลงลดลง ทำให้โลกไม่สามารถเก็บรักษาความร้อนเอาไว้ได้ โลกทั้งโลกจึงเป็นเหมือน
ทวีปแอนตาร์กติกา พื้นโลกทั้งหมดเย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง
จุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็งครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย ประมาณ 12,000 ปีมาแล้ว โลกเริ่มอุ่นขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่แล้วอุณหภูมิกลับลดต่ำลงอย่างกะทันหันกลับสู่ความเยือนยะเยือกอยู่ราว 1,000 ปี หลังจากนั้นค่าอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นอีกครั้ง ในอดีต ทวีปแอนตาร์กติกาที่ขั้วโลกใต้
เคยเป็นทวีปที่ปราศจากน้ำแข็ง และปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ
ในอนาคตเราอาจเป็นผู้ทำให้น้ำแข็งจำนวนมากละลาย หากพืดน้ำแข็งทั้งหมดละลาย ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 200 ฟุต เมืองที่อยู่แถบชายฝั่งทุกเมืองจะถูกน้ำท่วม สิ่งที่จะเป็นไปได้คือจะเกิดการพังทลายของพืดน้ำแข็งเวสต์แอนตาร์ติก ในช่วง 50 ปีผ่านมา แหล่งน้ำรอบๆพืดน้ำแข็งแห่งนี้ มีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส และเกิดการพังทลายเพิ่มขึ้นมากและเป็นไปได้ว่าจะเกิดการพังทลายครั้งใหญ่ ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยจะสูงขึ้นเฉลี่ย 15-20 ฟุต สิ่งที่น่าตกใจคือเราไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปในทางใดมากกว่ากัน ระหว่างความหนาวยะเยือกหรือความร้อนที่เลวร้าย อย่างใดจะนำหายนะมาให้ แต่สิ่งที่เรารู้คือเราอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม

ชีวิตดำเนินต่อไป


โดยปกติแล้วสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดเมื่อตายไป โอกาสที่จะเป็นซากดึกดำบรรพ์มีไม่ถึง0.1% การจะกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้จะต้องตายให้ถูกที่ ซึ่งสัตว์บกมักจะเสียชีวิตในที่โล่ง จะถูกกินเป็นอาหารหรือไม่ก็เน่าเปื่อย จึงไม่ค่อยพบซากดึกดำบรรพ์ คาดกันว่ากระดูก 1 ในพันล้านชิ้นเท่านั้นทีจะกลายเป็นซากดึกกำบรรพ์ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ที่พบ 95% จะเป็นสัตว์ที่อาศัยทะเลน้ำตื้น ฟอร์ที ได้ค้นพบไทรโลไบต์ซึ่งเกิดขึ้นมาราว 540 ล้านปีแล้วอีก 30 ล้านปีหลังจากนั้นพวกมันก็หายไป ในศตวรรษที่19ไทรโลไบต์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่เรารู้จักแต่แล้วจู่ก็มีการค้นพบโพรฟอลโลแทสพิสซึ่งเป็นสัตว์ที่มีแขนขา มีเหงือก มีระบบประสาทและมีสิ่งที่คล้ายสมอง จึงเป็นการหักล้างทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ถ้าวิวัฒนาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆแล้วจะอธิบายการปรากฎขึ้นของสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนประกอบครบและซับซ้อนอย่างไร ชาร์ล ดูลิตเทิล วอลคอต์ เป็นคนแรกที่บัญญัติว่าไทรโลไบต์เป็นสัตว์ขาปล้อง นอกจากนี้เขายังพบหินดินดานที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์พวกกุ้งปูชนิดที่แปลกและเก่าแก่มากเรียกหินดินดานเบอร์เกสส์

ย้อนหลังไปจากยุคแคมเบรียนอีก 500 ล้านปี หินดินดานเบอร์เกสส์อยู่ที่ตีนเขาซึ่งเป็นแอ่งมหาสมุทรตื้นๆซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต เมื่อหน้าผาถล่มลงมา พวกมันถูกอัดทำให้คงรายละเอียดไว้อย่างยอดเยี่ยม สตีเฟน เจย์ กูลด์ กล่าวว่า "หินดินดานเบอร์เกสส์มีความแตกต่างในรูปลักษณ์เชิงกายวิภาคในขอบเขตที่ไม่สามาถหาที่ไหนมาเทียบได้"มีสิ่งมีชวิตไม่กีกลุ่มที่รอดชีวิต ความสำเร็จของวิวัฒนาการไมได้เป็นไปตามแบบแผน แต่เป็นเหมือนการเสี่ยงโชค ยุคแคมเบรียนเป็นช่วงเวลาของการพัฒนารูปแบบร่างกาย พิคาเอีย กราซิเลนส์ เป็นสัตว์ดึดำบรรพ์ที่มีกระดูสันหลังซึ่งเท่ากับว่าเป็นบรรพบุรุษของคนด้วย กูลด์มองว่าความสำเร็จของสายพันธุ์ของเราเป็นแค่เรื่องบังเอิญโชคดี นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญไม่เห็นด้วยกับกุลด์ ในออสเตรเลีย เรจินัลด์ สพริกก์ พบซากดึกดำบรรพ์ที่มีความละเอียดมาก มันเหมือนรอยพิมพ์ใบไม้บนโคลน และ 9 ปีต่อมา จอห์น เมสัน พบซากดึกดำบรรพ์คล้ายปากกาทะเล และบางอันเหมือนกับตัวอย่างของสพริกก์ เมสันได้รับการยกย่องถึงกับมีการตั้งชื่อตัวอย่างที่เขาพบคือซาเมีย มาโซนี ในยุคคมเบรียนความแตกต่างระหว่างพืชกับสัตว์อาจคลุมเคลือ ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่ามันเป็นพวกเห็ดหรือรามากกว่า แต่มันก็ไม่ได้มีความสำคัญต่อการพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกเท่าใดนัก

ปัจจุบันเราเชื่อกันว่าเหตุผลที่เราไม่พบชนิดพันธุ์ที่มีมาก่อนหน้านั้นเป็นเพราะตัวมันเล็กเกินไปไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในรูปของซากดึกกำบรรพ์


สัตว์สองเท้าลึกลับ
ปี ค.ศ.1887 ฟอรงซัวส์ โธมัส ดูบัวส์ ชาวดัตซ์ ได้ออกค้นหากระดูกมนุษย์โบราณบนเกาะสุมาตรา เนื่องจากบนเกาะสุมาตรามีถ้ำเป็นจำนวนมาก และซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของโฮมินิดมักถูกพบในถ้ำ
ในขณะนั้นมีหลักฐานซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์อยู่น้อยมาก ได้แก่โครงกระดูกมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่ไม่สมบูรณ์ 5 โครง ซากมนุษย์สมัยน้ำแข็งครึ่งโหล ตัวอย่างมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่มีสภาพดีที่สุดถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ฮันเทอเรียนในกรุงลอนดอน
ปี 1891 ดูบัวส์พบชิ้นส่วนกะโหลกหุ้มสมองมนุษย์โบราณ บนเกาะชวา ชิ้นส่วนกะโหลกแสดงให้เห็นว่าเจ้าของกะโหลกมีลักษณะไม่เหมือนมนุษย์ มีสมองใหญ่กว่าลิงไม่มีหาง(ape) เรียกมันว่า พิเธแคนโธรพัส อิเร็กตัส แต่รู้จักกันดีชื่อ “มนุษย์ชวา” ทุกวันนี้เรียกมันว่า โฮโม อิเร็กตัส ปีถัดมา คนงานของดูบัวส์ขุดพบกระดูกต้นขาสภาพสมบูรณ์ ดูบัวส์ใช้กระดูกต้นขาในการอนุมานว่า พิเธแคนโธรพัส เดินตัวตรง
ปี 1924 เรย์มอน ดาร์ต ชาวแอฟริกาใต้ ได้รับกะโหลกเด็กที่ส่งมาจากเมืองหินปูน ที่ตั้งอยู่ขอบทะเลสาบคาลาฮารี ตรงจุดที่เรียกว่าทาอุง กะโหลกมีขนาดเล็กอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และมีส่วนที่เรียกว่า “แบบพิมพ์สมอง” (endocast) ที่เกิดจากธรรมชาติ ดาร์ตรู้ว่ากะโหลกทาอุงไม่ใช่โฮโม อิเร็กตัส แต่เป็นของมนุษย์ยุคก่อนหน้านั้น มีลักษณะเหมือนลิงไม่มีหางมากกว่า เขาคะเนอายุว่าอยู่ที่ 2 ล้านปี และตั้งชื่อมันว่า ออสตราโลพิเธคัส แอฟริกานัส หรือ “มนุษย์วานรทางใต้ของแอฟริกา”
ในประเทศจีน เดวิดสัน แบล็ค ชาวแคนาดา ออกค้นหากระดูกที่ภูเขาดราก้อนโบน เขาพบซากดึกดำบรรพ์ของฟันกรามชิ้นหนึ่ง และประกาศว่าเขาได้พบ ซิแนนโธรพัส พิเคเนนซิส ที่รู้จักกันในชื่อ “มนุษย์ปักกิ่ง”
ที่แหล่งขุดค้นบนเกาะชวา ราล์ฟ วอน เคอนิกชวาล ค้นพบมนุษย์ดึกดำบรรพ์อีกกลุ่มหนึ่ง รู้จักกันในชื่อชาวโซโล ซึ่งตั้งตามสถานที่ที่พบคือแม่น้ำโซโล
ปีต่อๆมามีการค้นพบกระดูกและตั้งชื่อมากขึ้น ทำให้มีชื่อใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ปี 1960 เอฟ.คลาร์ค ฮาวเอิลล์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก พยายามเสนออันดับใหม่ โดยให้ลดจำนวนสกุลลงให้เหลือแค่ 2 สกุล คือ ออสตราโลพิเธคัส กับโฮโม มนุษย์ชวากับมนุษย์ปักกิ่งจึงเป็น โฮโม อิเร็กตัส
ทศวรรษ 1960 โฮโม ฮาบิลิส ถือกำเนิดขึ้น ตามมาด้วยชนิดพันธุ์ของโฮมินิดอีกหลายชนิด กลุ่มที่น่าสนใจคือ ออสตราโลพิเธซีน (Austral มาจากภาษาลาติน หมายถึงทางทศใต้)
โฮโม อิเร็กตัส เคยเดินอยู่บนโลกนานกว่า 1 ล้านปี มีถิ่นอาศัยตั้งแต่ทวีปยุโรปด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงประเทศจีนด้านชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นกลุ่มที่ใช้เครื่องมือ เป็นพวกแรกที่รู้จักล่าสัตว์ รู้จักใช้ไฟ รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือที่ซับซ้อน เป็นพวกแรกที่ทิ้งหลักฐานว่ามีการตั้งถิ่นฐาน และเป็นพวกแรกที่รู้จักดูแลคนที่ตัวเล็กและอ่อนแอกว่า โฮโม อิเร็กตัส มีแขนขาผอมยาว ร่างกายแข็งแรงมาก มีพละกำลังและสติปัญญาที่ขยายเผ่าพันธุ์ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ โครงกระดูกเพศหญิง อายุ 1.7 ล้านปี ชื่อ KNM-ER 1808 บอกให้ทราบว่าโฮโม อิเร็กตัส กินเนื้อสัตว์
กลุ่มออสตราโลพิเธซีน ถือกำเนิดเมื่อราว 7 ล้านปีก่อน ในป่าเขตร้อนของทวีปแอฟริกา แล้วเริ่มอพยพมาอาสัยอยู่ในทุ่งหญ้าซาวันนา ออสตราโลพิเธซีน มีรูปร่างหลายแบบ บางคนบอบบางอ้อนแอ้นเหมือนเด็กทาอุง บางคนแข็งแรงและกำยำกว่า ทั้งหมดเดินหลังตรงได้ บางชนิดดำรงเผ่าพันธุ์นานกว่า 1 ล้านปี บางชนิดดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ราว 2.3 แสนปี
ซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคือ โครงกระดูกของออสตราโลพิเธซีน ที่มีอายุ 3.18 ล้านปี พบที่ฮาร์ดา ประเทศเอธิโอเปีย ในปี 1974 โดยคณะที่นำโดย โดนัลด์ โยฮันสัน ชื่อเป็นทางการของโครงกระดูกคือ A.L.288-1 แต่กลับเป็นที่รู้จักในชื่อลูซี โยฮันสันกล่าวว่า ลูซี คือบรรพบุรุษยุคแรกสุดของเรา เป็นห่วงเชื่อมโยงระหว่างลิงไม่มีหางกับมนุษย์ ลูซีตัวเล็กมาก สูงแค่ 3.5 ฟุต (105 cm) จึงอนุมานว่าเป็นเพศหญิง พูดได้ ปีนป่ายได้เก่ง
สองปีหลังจากค้นพบลูซี แมรี ลีแคร์ พบรอยเท้ามนุษย์ 2 คน ที่ลาเอโทลิ ประเทศแทนซาเนีย และเชื่อกันว่าเป็นวงศ์เดียวกับโฮมินิด รอยเท้าเกิดขึ้นเมื่อออสตราโลพิเธซีน 2 คน เดินผ่านเถ้าโคลนที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ นักบรรพชีวินวิทยาอนุมานว่าพวกเขามีขนาดรูปร่างเหมือนชิมแพนซีและมีขนดก แต่มีท่าทางและท่าเดินที่เหมือนมนุษย์ เอียน แทตเทอร์ซอล คิดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นลิงมีหางที่เดินสองเท้า
ในทศวรรษ 1980 มีการค้นพบโครงกระดูกครั้งสำคัญ ที่หุบเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเทอร์นาคา ประเทศเคนยา โดยคาโมยา คิเมอู ทีมงานของริชาร์ด ลีคีย์ คิเมอูพบโครงกระดูก โฮโม อิเร็กตัส ที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ เป็นโครงกระดูกของเด็กชายอายุประมาณ 9-12 ปี เสียชีวิตเมื่อ 1.54 ล้านปีก่อน แทตเทอร์ซอล บอกว่า โครงกระดูกมีโครงสร้างร่างกายแบบเดียวกับมนุษย์ปัจจุบันทั้งหมด
ปี 2001 และ 2002 มีการค้นพบกระดูกสภาพเยี่ยม 4 โครง ดังนี้
1. เคนยันโธรพลัส พลาทิออปส์ (แปลว่า เคนยาหน้าแบน) พบโดย มีฟ ลีคีย์ ที่ทะเลสาบเทอร์นาคา ประเทศเคนยา
2. อาร์ดิพิเธคัส รามินัส คาดับบา มีอายุระหว่าง 5.2-5.8 ล้านปี
3. ออร์โรริน ทูเกเนนซิส คาดว่ามีอายุราว 6 ล้านปี
4. ซาเฮแลนโธรพลัส ชาเดนซิส อายุเกือบ 7 ล้านปี พบที่ทะเลทรายจูรับ ประเทศชาด
ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ระหว่าง 2-3 ล้านปีก่อน อาจจะมีโฮมินิดมากถึง 6 ชนิด อยู่ร่วมสมัยกันในแอฟริกา แต่มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ดำรงอยู่ยาวนาน คือ โฮโม ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 2 ล้านปีก่อน ตามตำราสายของโฮโม เริ่มต้นจาก โฮโม ฮาบิลิส แล้วมาสรุปจบที่ตัวเรา คือ โฮโม เซเปียนส์

วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์


วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์บางครั้งก็แยกกันไม่ออก มีวิจัยของต่างประเทศ ทำการวิจัยโดยนำคนที่กำลังใกล้ตายไปชั่งหามวลเปรียบเทียบกับมวลของคนเดิมหลังตาย พบว่าทุกคนจะมีมวลส่วนหนึ่งหายไป บางคนก็หายไปน้อย บางคนก็หายไปมาก ตั้งแต่ 0.3 - 2.5 kg โดยมวลที่หายไปนั้นนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าจะกลายไปเป็นพลังงานตามทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตล์ E = mc2 แต่ในทางไสยศาสตร์ มวลส่วนที่หายไปนี้มันคือวิญญาณที่ออกจากร่างนั่นเอง
เคยสังเกตไหมว่า บริเวณใดที่มีคนตายบ่อยๆ เช่นบนถนนบางที่แม้จะเป็นถนนตรง ทัศนวิสัยดี แต่ก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งๆที่ไม่น่าจะเกิด ทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าสาเหตุจากมีพลังงานบางอย่างเข้ามารบกวนคลื่นสมอง ทำให้สมองสั่งงานผิดปกติ เช่น ทำให้เห็นภาพบางอย่างจึงหักหลบอย่างกระทันหันจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ แน่นอน ในทางไสยศาสตร์ภาพที่เห็นนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากวิญญาณนั่นเอง

27/6/51

ดาวเดียว

บทนี้ Bryson เขียนเกี่ยวกับมนุษย์ เขาต้องการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นบอบบางแค่ไหนและเราโชคดีแค่ไหนที่เกิดมาบนดาวเคราะห์ที่เหมาะสมกับการมีสิ่งมีชีวิต

ขอบเขตในโลกนี้ที่สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เมื่อเทียบกับขนาดของโลกแล้วน้อยมากๆ ยิ่งเป็นขอบเขตที่มนุษย์สามารถอยู่ได้ยิ่งน้อยลงไปอีก เกือบทั้งหมดบนโลกเป็นที่ร้อนเกินไป หนาวเกินไป แห้งเกินไป ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ และมนุษย์ไม่สามารถอยู่ในน้ำได้ ต่อให้เราสามารถหายใจในน้ำได้ แต่เราก็ไม่สามารถทนต่อแรงดันของน้ำได้ เรามีแก๊สอยู่ในร่างกาย และเมื่อความดันเปลี่ยนแปลงแก๊สเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหา โรคที่พบบ่อยในผู้ที่ต้องดำน้ำบ่อยๆ หรือ อยู่ในสภาวะแรงดันสูงคือโรคเคซอง โรคนี้เกิดขึ้นเพราะที่ความดันสูงไนโตรเจนจะเปลี่ยนสถานะเป็นฟองและแทรกเข้าไปในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ถ้าลดความดันลงอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดเป็นฟองฟู่ ทำให้เกิดอาการปวดตามบริเวณต่างๆ บางครั้งอาจทำให้เป็นอัมพาต และอาจทำให้ตายได้ มีวิธีป้องกันอยู่สองวิธีคือ พยายามอยู่ในน้ำลึกๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หรือให้ค่อยๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำ

ผู้ค้นพบวิธีป้องกันโรคเคซองคือ พ่อ-ลูก ฮัลเดน พวกเขาได้ทำการศึกษาการเอาชีวิตรอดในสภาวะอากาศแปลกๆ มากมาย ผู้พ่อให้ความสนใจเกี่ยวกับสารพิษในเหมือง ส่วนผู้ลูกให้ความสนใจเรื่องความดัน เขาสร้างหม้ออัดความดันขึ้น ซึ่งเขาได้ใช้มันทำการศึกษาร่วมกับกองทัพเรือเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายต่อบรรยากาศที่แปลกๆ หรือการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศอย่างรวดเร็ว มีอยู่บ่อยครั้งที่การทดลองของเขาทำให้ผู้ถูกทดลองได้รับบาดเจ็บ แต่เขาเองก็ยอมเป็นผู้ถูกทดลองอยู่บ่อยๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ร่างกายเขาขาดออกซิเจนทำให้ส่วนล่างของร่างกายหมดความรู้สึกไปเป็นเวลา 6 ปี

สรุปแล้วถ้ามนุษย์เราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เราจะเจอกับปัญหาได้ง่ายมาก จริงๆ แล้วมีพื้นที่เพียง 4% ของโลกเท่านั้นที่เราอาศัยอยู่ได้ ถ้าดูในระดับระบบสุริยะแล้วพื้นที่นี้เล็กมากๆ ยิ่งการเปรียบเทียบระดับจักรวาลแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ในบทนี้กล่าวถึงความเหมาะสมสี่ประการของโลกที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต อย่างแรกคือสถานที่ตั้งเหมาะสม ถ้าโลกใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่านี้อีก 5% ก็ร้อนเกินกว่าที่จะมีสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าอยู่ห่างออกไปอีก 15% ก็จะหนาวเกินไป ซึ่งขอบเขตนี้ไม่ได้กว้างเลย

ระยะทางจากดวงอาทิตย์ที่ถูกต้องอย่างเดียวไม่พอ ไม่งั้นคงมีสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ อีกสาเหตุคือโลกเป็นดาวเคราะห์ที่ถูกประเภท คือมีหินหนืดไหลอยู่ข้างใต้ ประโยชน์อย่างแรกคือทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเป็นเกราะป้องกันรังสีจากอวกาศ ประโยชน์อีกอย่างคือทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกทำให้มีที่สูงที่ต่ำ ถ้าโลกเราไม่มีที่สูงที่ต่ำ ทุกแห่งบนโลกนี้ก็จะจมอยู่ในน้ำทะเล

ประการที่สามคือโลกมีดวงจันทร์คอยช่วยให้วงโคจรสม่ำเสมอ และโลกหมุนที่มุมและความเร็วที่เหมาะสม

ประการสุดท้ายคือเวลา Bryson กล่าวว่าเรามีแรงกดดันบีบคั้นและความท้าทายเป็นระยะๆ ในปริมาณที่พอเหมาะ (เช่น ยุคน้ำแข็ง การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์) รวมทั้งมีระยะเวลาที่ปราศจากภัยธรรมชาติโดยสิ้นเชิงคั่นเป็นระยะด้วย

สิ่งมีชีวิตประกอบด้วยธาตุหลักๆ ประมาณ 6 ธาตุเท่านั้น โดยธรรมชาติแล้วมีธาตุถึง 92 ธาตุ ธาตุที่มีน้อยก็มีน้อยมาก ธาตุที่มีมากก็มีมากไปเลย แฟรนเซียมอาจมีอยู่ไม่ถึง 20 อะตอมเท่านั้น ในขณะที่ออกซิเจนเป็นธาตุที่มีมากที่สุด มีอยู่ประมาณ 50% ของเปลือกโลก แต่บางครั้งธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตกลับเป็นธาตุที่มีอยู่น้อย เช่น ไนโตรเจนและดีบุกไม่ได้อยู่ใน 50 อันดับแรกซะด้วยซ้ำ ส่วนคาร์บอน ซึ่งเป็นธาตุหลักของสิ่งมีชีวิตกลับมีมากเป็นอันดับที่ 15 เพียง 0.0048% ของเปลือกโลกเท่านั้น บางธาตุมีอยู่มากแต่เราอาจไม่ค่อยรู้จักมัน เช่นอลูมิเนียมเป็นธาตุที่มีมากเป็นอันดับสี่แต่เรากลับค้นพบมันในศตวรรษที่ 19

ธาตุยังมีความน่าสนใจเมื่อนำมารวมกัน เช่นโซเดียมกับครอลีน โซเดียมเป็นธาตุที่ไม่มีความเสถียร ถ้าปล่อยลงในน้ำมันจะระเบิด ส่วนครอลีน แม้ในปริมาณที่ไม่มาก ก็เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าเรานำทั้งสองมารวมกันเรากลับได้เกลือ ซึ่งเราบริโภคกันอยู่ทุกวัน

โดยสรุปแล้วแม้เราจะบอบบางแต่เราก็ถูกวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับสภาวะของโลกนี้ ให้ใช้ประโยชน์จากธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ดังนั้นบางครั้งเราอาจไม่รู้สึกตัวว่าจริงๆ แล้วเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางมากเพราะเราใช้ชีวิตอยู่แต่ในที่ที่เหมาะสมกับตัวเรา

สวยดุ

ในบทนี้ Bryson เขียนเกี่ยวกับภูเขาไฟ หลายท่านไม่ทราบว่าภูเขาไฟนั้นมี่อยู่สองประเภท ประเภทแรกเป็นแบบที่เราคุ้นเคยกัน เป็นแบบที่มีโคน เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งโคนนั้นเป็นการรวมตัวกันของแม็กมาที่ประทุออกมา ส่วนแบบที่สองเป็นแบบที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยกัน เป็นแบบที่มีการประทุอย่างรุนแรงของแม็กมา ทำให้ไม่เกิดเป็นโคน เพราะแม็กมากระจายตัวออกไปไกลตอนที่ประทุออกมา แต่จะเห็นเป็นแอ่ง และข้างใต้แอ่งจะมีปล่องแม็กมา อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเป็นแบบที่สองนี้ กินพื้นที่ใหญ่มาก เชื่อว่าในอดีตที่เกิดการระเบิดขึ้นทำให้เกิดหลุมใหญ่กว้างกว่า 65 กิโลเมตร Bryson เรียกภูเขาไฟที่ระเบิดอย่างรุนแรงนี้ว่าซูเปอร์ภูเขาไฟ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าบริเวณซูเปอร์ภูเขาไฟนั้นมีความสวยงามมาก แต่เบื่องหลังความสวยงามนั้นแฝงไปด้วยความอันตรายอย่างมาก Bill McGuire คากว่าถ้าเยลโลว์สโตนระเบิดขึ้น เราจะไม่สามารถเข้าไปได้ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร เดคคานแทร็ปในอินเดียก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มันระเบิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีก่อน และเราเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ แม้ว่าการระเบิดจะรุนแรงมากแต่โชคดีว่ามันไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

ไม่ได้มีแต่เยลโลว์สโตนและเดคคานแทร็ปเท่านั้นที่เป็นซูเปอร์ภูเขาไฟ แต่ยังมีอีกหลายแห่ง แต่มักอยู่ใต้มหาสมุทร จริงๆ แล้วเกาะหลายๆ แห่ง เช่น ไอซ์แลนด์ ฮาวาย อะซอเรซ ฯลฯ ล้วนเกิดจากการระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟทั้งสิ้น

การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 1883 ของภูเขาไฟการากาตัวในอินโดนีเซีย ทำให้เกิดเสียงสะท้อนรอบโลกถึงเก้าวัน ถ้าเปรียบให้การระเบิดครั้งนี้มีขนาดเท่าลูกกอล์ฟแล้วละก็ การระเบิดของเยลโลว์สโตนครั้งที่ใหญ่ที่สุดจะเปรียบได้กับทรงกลมขนาดเท่ามนุษย์เลยทีเดียว

ผลกระทบไม่ได้มีแค่แรงระเบิดเท่านั้นแต่การระเบิดยังทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศอีกด้วย ภูเขาไฟที่ทะเลสาบโทบาในอินโดนีเซีย (ผมเคยไปมาด้วย สวยมาก) ทำให้เกิดฤดูหนาวภูเขาไฟอย่างน้อย 6 ปี ทำให้พืชและสัตว์มากมายสูญพันธุ์ เชื่อกันว่าการระเบิดทำให้มนุษย์ลดจำนวนลงเหลือประมาณ 2,000 ถึง 3,000 คนเท่านั้น

ปัญหาอย่างหนึ่งคือเราไม่สามารถทำนายได้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟเหล่านี้ ในเยลโลว์สโตนนั้นเกิดการยกตัวขึ้นสูงกว่าหนึ่งเมตรในปี 1984 และยุบตัวลง 20 เซนติเมตรในปีถัดมา สาเหตุเพราะมีการเคลื่อนที่ของเม็กมาใต้ดิน เม็กมาเหล่านี้อาจจะปะทุออกมาเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวเลย ผู้ดูแลอุทยานกล่าวว่า โดยทั่วไปแผ่นดินไหวอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภูเขาไฟกำลังจะระเบิดได้ แต่ที่เยลโลว์สโตนมีแผ่นดินไหวบ่อยมาก เฉลี่ยแล้วปีละเป็นร้อยๆ ครั้ง แต่ส่วนมากไม่สามารถรู้สึกได้ ส่วนการพุ่งของน้ำพุร้อนก็เช่นกันมันเปลี่ยนแปลงบ่อยมากจนไม่สามารถทำนายอะไรได้เลย

แม้ว่าในยุคปัจจุบันเรายังไม่เคยเห็นการระเบิดที่รุนแรงของเยลโลว์สโตนแต่ก็เคยเกิดเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนมาแล้ว ในปี 1959 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ทำให้ภูเขาด้านหนึ่งพังลงมาเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 28 คน และยังเคยเกิดเหตุที่อยู่ดีๆ น้ำพุร้อนพุ่งออกมาในที่ที่ไม่เคยมีการพุ่งมาก่อน มีเศษหิน ดิน และน้ำร้อนยิ่งยวด (Superheated steam) พุ่งออกมาที่ความดันสูง ทำให้เกิดหลุมขนาด 5 เมตรขึ้น โชคดีที่คราวนั้นไม่มีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น แต่เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้อีก ครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นในที่ที่มีผู้คนอยู่ และอาจรุนแรงกว่านี้มากก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในบริเวณภูเขาไฟที่มีอุณหภูมิสูงกลับมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ก่อนหน้าปี 1965 เราเชื่อว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถอาศัยอยู่ที่อุณหภูมิเกิน 50 องศาเซลเซียสได้ แต่ในปีนั้นมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตพวกเอกทรีโมไฟลส์ เช่น Sulpholobus acidocaldarius และ Thermophilus aquaticus ในบ่อน้ำบริเวณภูเขาไฟซึ่งร้อนมากและมีความเป็นกรดสูง แต่ว่านั่นก็ไม่ใช่ที่สุด ยังมีสิ่งมีชีวิตพวกไฮเปอร์เทอร์โมไฟล์ เช่น Pyrolobus fumarii เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามปล่องภูเขาไฟ ซึ่งสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 113 เซลเซียส

26/6/51

โครม!

"โครม" เป็นเรื่องราวของการโต้แย้งในข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ โดยนักวิทยาศาสตร์แต่ละกลุ่มมีแนวคิดหรือข้อสันนิษฐานของตน ซึ่งได้จากการสำรวจและศึกษาวิจัยจากข้อมูลในหลายๆ องค์ประกอบ แล้วนำมาเชื่อมโยงเป็นทฤษฎีของตนเองขึ้น ต่างฝ่ายก็มีทั้งข้อสนับสนุนและโต้แย้งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ที่สำคัญประเด็นข้อขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในวิทยาการด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งนับว่าเป็นผลดีในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการ ประเด็นข้อขัดแย้งทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า เริ่มจากการขุดพบก้อนหินรูปร่างประหลาดที่เมืองแมนสัน ในรัฐไอโอวา นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของหินอย่างผิดพลาด แต่ต่อมาเมื่อได้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังกลับกลายเป็นว่าเป็นหินจากนอกโลก โดยสรุปคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมือง แมนสันเกิดจากอุกกาบาตจากนอกโลกพุ่งชน จากข้อสรุปดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนในช่วงต้นศตวรรษ 1950 อาทิเช่น ยูจีน ชูเมกเกอร์ (Eugene Shoemaker) และ เอเลนอร์ เฮลิน (Eleanor Helin) เริ่มสำรวจระบบสุริยจักรวาลจริงจัง ทำให้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยเป็นจำนวนมากในระบบสุริยจักรวาล แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่มีใครไปเบี่ยงเบนทิศทางไม่ให้พุ่งชนโลกได้ นั่นคือ ดาวเคราะห์น้อยดวงไหนๆ ก็มีโอกาสพุ่งชนโลกได้ทั้งนั้น ซึ่งสรุปแล้วมีดาวเคราะห์น้อยราวๆ 2,000 ดวงที่พอจะทำลายล้างอารยธรรมของโลกได้ ดวงที่เคยผ่านโลกไปในระยะใกล้ประมาณ 170,000 กิโลเมตร ซึ่งพบเมื่อปี 1991 คือ 1991 BA ในขณะที่จีน ชูเมกเกอร์ กำลังเตือนให้โลกรับรู้ในอันตรายของระบบสุริยะ มีการค้นพบของนักธรณีวิทยาที่อิตาลีตอนต้นปี 1979 เกี่ยวกับแถบดินสีแดงๆ ขาวๆ ที่เป็นตัวแบ่งระหว่างชั้นหินปูนโบราณสองชั้น ชั้นหนึ่งมาจากยุคครีเตเชียส อีกชั้นเป็นยุคเทอร์เชียรี สิ่งที่พบนี้เรียกกันว่า พรมแดนเคที (KT boundary) สิ่งนี้ใช้บ่งบอกระยะเวลา 65 ล้านปีก่อน อันเป็นช่วงเวลาที่บันทึกของฟอสซิลระบุว่า ไดโนเสาร์และสัตว์สปีชีส์อื่นๆ ประมาณครึ่งโลกได้สุญพันธุ์ไปอย่างฉับพลันทันที ในเรื่องนี้ทำให้วอลเตอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvarez) ต้องศึกษาหาหลักฐานมาประกอบแนวคิดซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ค่อยๆ สูญพันธุ์ไปโดยใช้เวลาหลายล้านปี อัลวาเรซได้รับความช่วยเหลือจากพ่อของเขา ลูอิส อัลวาเรซ (Luis Alvarez) ซึ่งเป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์รางวัลโนเบล และเพื่อนร่วมงาน แฟรงค์ อาซาโร (Frank Asoro) ใช้เทคนิคการวัดองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า "การวิเคราะห์กิจกรรมทางนิวตรอน" ผลการทดลองบ่งชี้ว่า "โลกเคยถูกดาวเคราะห์น้อยหรือไม่ก็ดาวหางพุ่งชน" ซึ่งอ้างอิงมาจากการตรวจวิเคราะห์อิริเดียมที่มีมากกว่าระดับปกติถึงหลายร้อยเท่า แต่ฝ่ายตรงข้ามกับทฤษฎีของ อัลวาเรซ คนสำคัญคือ ชาร์ลส์ ออฟฟิชเชอร์ (Charles Officer) ยืนกรานว่า อิริเดียมสะสมจากกิจกรรมของภูเขาไฟ มิใช่เกิดจากการระเกิดใหญ่ขึ้นครั้งเดียวแล้วทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หลักฐานที่ยืนยันแนวความคิดของอัลวาเรซอีกประการหนึ่งคือหลุมอุกกาบาต แต่จากการปรับปรุงข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่า แมนสันไม่ใช่หลุมอุกกาบาต อย่างไรก็ตามกลับมีการค้นพบจุดที่อุกกาบาตที่เมืองชิกซูลับ (Chicxulub) ของประเทศเม็กซิโกในปี 1990 และเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะคือ มีการพุ่งชนของดาวเคราะห์โดยธรรมชาติ คือ ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 พุ่งชนดาวพฤหัส การพุ่งชนครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับพื้นผิวดาวพฤหัสเท่ากับโลก เกิดความเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความคิดของอัลวาเรซ การพุ่งชนของดาวเคราะห์หรือดาวหางได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 1. อุณหภูมิที่สูงถึง 60,000 เคลวิน หรือสิบเท่าของอุณหภูมิดวงอาทิตย์เมื่อผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทุกสิ่งในทางผ่าน เช่น บ้านเรือน ผู้คน รถ จะหดเหี่ยวและหายไปเหมือนเยื่อกระดาษบางๆ ที่โดนเปลวไฟ 2. แรงระเบิดจะกระจายหิน ดิน และก๊าซร้อนจัด ออกไปโดยรอบในรัศมี 250 กิโลเมตร สิ่งมีชีวิตจะตายด้วยแรงระเบิดและไกลออกไปถึง 1,500 กิโลเมตร การทำลายล้างจากระเบิดจึงค่อยๆ สงบลง 3. ผลจากการพุ่งชนก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เกิดคลื่นสึนามิภายใน 1 ชั่วโมง เมฆที่เกิดจากฝุ่นผงจะปกคลุมโลก ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ที่ถูกปกคลุมจะทำให้ระบบต่างๆ ถูกทำลาย และทำให้สภาวะอากาศของโลกเลวร้ายต่อมาอีกราว 10,000 ปี 4. เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะตรวจพบดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่จะพุ่งเข้ามาชนโลก และถึงตรวจพบล่วงหน้าเป็นปีก็ไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ได้ จากการคำนวณพบว่าทุกๆ หนึ่งล้านปีจะมีการพุ่งชนครั้งใหญ่

5:50:00 ก่อนเที่ยง
โดย Tunyarot

เรื่องของทะเล

บนโลกเรามีน้ำอยู่ 512 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร และจะมีเท่านี้ตลอดไป เพราะมันเป็นระบบปิด อาณาจักรของน้ำ มีชื่อเรียกว่า ไฮโรสเฟียร์ 97 เปอร์เซ็นต์ของน้ำอยู่ในทะล แหล่งน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุด คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ใหญ่กว่าแผ่นดินทั้งหมดรวมกัน บอลล์กล่าวว่า เราไม่ควรเรียก ดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี้ว่า “Earth”ซึ่งหมายถึง ดิน แต่ควรเรียกว่า “น้ำ”
สามเปอร์เซ็นต์ของน้ำบนพื้นโลกเป็นน้ำจืด อยู่ในรูปของพีดน้ำแข็ง (ice Sheet) เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งบนโลกอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา ที่เหลืออยู่ที่กรีนแลนด์ จะเห็นว่าทวีปแอนตาร์กติกา เพียงทวีปเดียวมีน้ำแข็งมากถึง 9.6 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ถ้ามันละลายหมดจะทำให้น้ำในมหาสมุทรสูงขึ้นราว 200 ฟุต ระดับน้ำทะเลไม่เคยมีระดับเท่ากัน กระแสน้ำ ลมและคอริออลิส และปัจจัยอื่น ๆ มีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง ในท้องทะเลที่ลึกลงไปเกิน 2000 ฟุต จะไม่พบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพราะไม่มีแสงสว่าง
การสำรวจท้องทะเลเกิดขึ้นเมื่อปี 1872 เป็นการสำรวจรวมระหว่างพิพิธภัณฑ์อังกฤษ สมาคมวิชาการ แห่งสหราชอาณาจักร และรัฐบาลอังกฤษ โดยใช้อดีตเรื่องสงคราม ชื่อ เอสเอมเอส แชลเลนเจอร์ ใช้เวลาในการเดินทางรอบโลก 3 ปี เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำ มีเจ้าหน้าที่บนเรือประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ และลูกเรือ 240 คน เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตใหม่ๆได้ 4,700 ชนิด และค้นพบว่ามีภูเขาหลายลูกจมอยู่ใต้กลางมหาสมุทรแอตแลนติก
การสำรวจน้ำลึก เริ่มขึ้นในปี 1930 โดยบีบีและบาร์ทัน ผู้ออกแบบยานทรงกลมสำรวจน้ำลึก เป็นยานที่เรียบง่ายไม่มีระบบบังคับ สิ่งที่หนึ่งที่ไม่ได้จากการสำรวจของพวกเขา คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แม้พวกเขาจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตมากมายที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ด้วยข้อจำกัดด้านทัศนวิสัยและทั้งไม่ใช้นักสมุทรศาสตร์ในการสำรวจครั้งนี้ บีบี ได้เห็นงูยักษ์ที่ยาวกว่า 20 ฟุต และตัวอ้วนใหญ่มาก มันว่ายผ่านไปเร็วมาก หลังจากที่ทำลายสถิติการดำน้ำลึกได้ บีบีก็หมดความสนใจในการดำน้ำ แต่ในเวลาต่อมา ออกัสต์และณัคส์ พิคมาร์ค และเรือโทดอนวอลล์แห่งกองทัพเรือสหรัฐ ก็ค่อยดำลงสู่ก้นทะเลที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร คือ มาเรียนาเทรนซ์ ซึ่งอยุ่ทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีความลึก 35,820 ฟุต หรือเกือบ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง พวกเขาเห็นปลาตัวเบน พวกเข้าไม่มีอุปกรณ์ถ่ายภาพ จึงไม่มีรูปให้เห็น
เมื่อเข้าทศวรรษ 1950 กองทัพเรือมีแผนที่ที่ดีมากที่สามารถนำทางผ่านหุบผาชัน และอ้อมรอบภูเขายอดราบใต้มหาสมุทร แต่พวกเขาไม่ต้องการให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของโซเวียด จึงเก็บเป็นความลับ นักวิชาการจึงได้แต่พึงพาข้อมูลหยาบที่ได้จากการสำรวจในอดีต
ในปี 1994 ถุงมือฮอกกี้น้ำแข็ง 3,400 ข้าง บนเรือขนส่งสินค้าเกาหลี ถูกพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกกวาดลงทะเลถุงมือเหล่านี้ถูกพัดพาไปทั่วตั้งแต่เวนคูเวอร์จนถึงเวียดนาม ทำให้นักสมุทรศาสตร์ตามรอยกระแสน้ำได้ถูกต้องกว่าที่ผ่านมาในอดีต
ในปี 1977 ยานสำรวจอัลวิน ได้ค้นพบกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มากมายอาศัยอยู่บนและรอบๆปล่องใต้มหาสมุทรที่ทอดลึกลงไปในเปลือกโลก นอกหมู่เกาะกาลาปากอส เช่น หนอนปล่องยาวกว่า 10 ฟุต หอยกาบตัวโตถึง 1 ฟุต กุ้งและหอยแมลงภู่จำนวนมากและหนอนสปาเกตตี้ดิ้นยุกยิก พวกมันอยู่ได้เพราะมีแบคทีเรียกลุ่มใหญ่ได้รับพลังงานและอาหารจากไฮโดรเจนชัลไฟด์ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีพิษอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไฮโดรเจนซัลไฟด์นี้ลอยมาจากปล่อง มีความร้อนและพลังงานสูงมาก มีอุณหภูมิ 760 องศาฟาเรนไฮต์
ก่อนหน้านั้นเชื่อกันว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 130 องศา แต่สิ่งนี้กลับมีชีวิตอยู่ได้และสามารถอยู่ได้ในน้ำที่เย็นจัด เรื่องนี้ช่วยไขปัญหาข้อหนึ่งในทางสมุทรศาสตร์ซึ่งพวกเราหลายคนไม่เคยตระหนักว่า มันคือ ปริศนานั้นก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปเหตุใดมหาสมุทรจึงไม่เค็มขึ้น พูดให้ชัดคือ ในทะเลมีเกลืออยู่จำนวนมากพอที่จะกลบผังแผ่นดินทั้งหมดบนโลกจนสูงถึง 500 ฟุต ทุกๆวันน้ำนับล้านๆ แกลลอนระเหยไปจากมหาสมุทร แต่เกลือไม่ระเหย เพราะฉนั้นตามหลักเหตุผลแล้ว น้ำทะเลควรจะเค็มมากขึ้นตามเวลา แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น มีบางสิ่งที่ดึงเอาเกลือออกจากน้ำมากพอๆกับที่ใส่ลงไป เราใช้เวลานานมากกว่าที่จะรู้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ใต้ก้นมหาสมุทรมีกากกัมมันตรังสีที่ถูกนำมาทิ้ง โดยมนุษย์แล้วกากกัมมันตรังสีมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลมากน้อยเพียงใดไม่มีใครรู้ เพราะเราสนใจสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลน้อยมาก แม้แต่วาฬสีน้ำเงินที่เขาบอกว่า ลิ้นหนักเท่ากับช้าง 1 ตัว หัวใจใหญ่เท่ากับรถ เราไม่รู้ว่ามันใช้เวลาอยู่ที่ไหน สืบพันธ์ที่ไหน เรื่องน้อยนิดที่เรารู้จักวาฬนั้นเกือบทั้งหมดมาจากการแอบฟังเพลงของมัน
ประเมินกันว่าในทะเลมีสัตว์อาศัยอยู่มากกึง 30 ล้านชนิดและส่วนมากยังไม่เคยถูกค้นพบ เบาะแสที่บอกว่า ทะเลลึกนั้นอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย ปรากฏขึ้นในทศวรรษ 1960 มีการประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับขุดและจับสิ่งมีชีวิต สามารถจับสิ่งมีชีวิตได้มากมายหลายชนิด เช่น หนอนปลาดาว ปลิงทะเล ในปลายทศวรรษ 1960 จอนห์ไฮแชด ได้หย่อนกล้องถ่ายภาพ โดยเอาเหยื่อผูกติดไว้ที่กล้อง เขาพบสิ่งมีชีวิตมากขึ้นและที่พิเศษ คือ พบฝูงปลาแฮกพิช สัตว์โบราณหน้าตาเหมือนปลาไหล และฝูงปลาเกรเนเดีย และพบสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมาจากปล่องที่อยู่ไกลออกไป 1000 ไมล์ และในจำนวนนี้มีสัตว์ ประเภทหอยแมลงภู่ หอยกาบ ซึ่งเราแทบไม่รู้เลยว่ามันก็เป็นนักเดินทางที่ยิ่งใหญ่ด้วย
ทุกวันนี้เชื่อกันว่าตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตบางชนิดจะลอยไปตามกระแสน้ำ จนกระทั้งพวกมันมาถึงที่ที่มีอาหารอุดม ซึ่งพวกมันสามารถตรวจสอบได้ ด้วยวิธีทางเคมีบางอย่างที่เราไม่รู้แล้วก็ยึดหลักอาศัยอยู่ที่นั้น

25/6/51

ความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน เป็นสถานที่เก็บรักษาวัตถุราว 70 ล้านชิ้น ของเหล่านี้มาจากทุกอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตและจากทุกมุมโลก ทั้งพืชและสัตว์ เก็บรักษาไว้ด้วยวิธีการต่างๆ กัน การได้เข้ามาสถานที่นี้เหมือนกับการได้ท่องไปในสมองของดาร์วิน ผู้ที่เป็นคนเก็บสะสมวัตถุล้ำค่านี้ เช่น โจเซฟ แบงก์ส (Joseph Banks) อเล็กซานเดอร์ วอน ฮูมโบลด์ (Alexander von Humboldt) และดาร์วิน นอกจากนี้ยังมีนักสะสม เช่น ริชาร์ด ไมเนิร์ต ฮาเกน (Richard Minertzhagen) ผู้เขียนหนังสือ Bird of Arabia นอร์แมน ผู้ศึกษาพืชชนิดเดียวชื่อ เซนต์จอห์นลิเวิร์ต เป็นเวลาถึง 42 ปี และ เลน เอลลิส (Len Ellis) ผู้ศึกษาไบรโอไฟต์ หรือมอสส์
มอสส์ชอบด้านทิศเหนือของต้นไม้มากกว่าด้านอื่นๆ ซึ่งมีความหมายรวมถึงไลเคนด้วย แต่ในศตวรรษที่ 19 ยังไม่มีการแยกระหว่างมอสส์กับไลเคน เฮนรี เอส คอนาร์ด (Henry S. Conard) เขียนไว้ในหนังสือ How to Know the mosses and Liverworts ว่า “ไม่มีกลุ่มพืชขนาดใหญ่มากๆ กลุ่มใดจะไร้ประโยชน์ยิ่งไปกว่ามอสส์อีกแล้ว ไม่ว่าจะในด้านการค้าหรือด้านเศรษฐกิจ”
มอสส์เป็นพืชที่อยู่ในอาณาจักรไบรโอไฟต์ ประกอบด้วยชนิดพันธุ์มากกว่า 10,000 ชนิด ที่จัดอยู่ใน 700 สกุล มอสส์เป็นพืชเขตร้อน แถบประเทศมาเลเซียจะพบความหลากหลายของพืชชนิดนี้มาก ปัจจุบัน มอสส์ถูกจัดอยู่ใน 3 สกุล คือ เดรพาโนคลาดัส วามสทอร์เฟีย และฮามาทาคูลิส เมื่อมีการพบมอสส์ชนิดใหม่จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับชนิดอื่นทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่ายังไม่เคยมีการจดบันทึก จากนั้นเขียนรายละเอียดอย่างเป็นทางการ เตรียมภาพประกอบ และตีพิมพ์ ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
การเก็บตัวอย่างมอสส์โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เช่น ชาร์ลส์ ไลเยลล์ (Charles Lyell) จอร์จ ฮันต์ ( George Hunt) ทำให้คอลเล็กชั่นมอสส์ของ เลน เอลลีสมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุดในโลกเพราะมีมากถึง 7.8 แสนตัวอย่าง บางชิ้นเคยอยู่ในความครอบครองของ โรเบิร์ต บราวน์ (Robert Brown) นักพฤกษศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นพบปรากฎการณ์บราวเนียน โมซัน และนิวเคลียสของเซลล์ ผู้ก่อตั้งและดูแลแผนกพฤกษศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเป็นเวลาถึง 31 ปี
โจเซฟ แบงก์ส นักพฤกษศาสตร์ของอังกฤษ ได้สำรวจข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ โดยเดินทางไปกับเรือเอ็นเดเวอร์ ที่มีกัปตันคุกเป็นกัปตันเรือ และประสบความสำเร็จในการเดินทาง เพราะได้ศึกษาและเก็บตัวอย่างพืชจากสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป ประกอบกับแบงก์สเป็นนักสะสมที่มีไหวพริบและสร้างสรรค์แม้ในยามที่ไม่สามารถขึ้นฝั่งที่รีโอเดจาเนโรได้เพราะเป็นด่านกักกันโรค เขาก็ไปสำรวจตามลังอาหารสัตว์และได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ๆ อีกหลายชนิด เขานำตัวอย่างพืชกลับมากว่า 3 หมื่นตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้มี 1,400 ตัวอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน
ในศตวรรษที่ 18 การเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชกลายเป็นความบ้าคลั่งระดับนานาชาติ ความรุ่งเรือง ความมั่งคั่งรอคอยผู้ที่สามารถพบพืชชนิดใหม่ๆ ธอมัส นัตทอลล์ (Thomas Nuttall) ผู้ตั้งชื่อหวายสีม่วงตามชื่อ แคสปาร์ วิสตาร์ (Caspar Wista) จอห์น เฟรเชอร์ (John Fraser) ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งชื่อสนเฟอร์เฟรเชอร์ และจอห์น ลีเอิง นักพฤกษศาสตร์สมัครเล่น
บนโลกมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากมาย คาร์ล ลินเน (Carl Linne) หรือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ชาวสวีเดน ศึกษาด้านการแพทย์ในสวีเดนและฮอลแลนด์ แต่ที่เขาสนใจคือโลกของธรรมชาติ เมื่ออายุราว 20 ปี เขาเริ่มทำหนังสือและรวบรวมรายชื่อพันธุ์พืชและสัตว์ของโลกโดยใช้ระบบที่คิดขึ้นเอง ระบบการแบ่งหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตของเขาเป็น “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกวิทยาศาสตร์” ลินเนียสมีนิสัยหมกมุ่นในเรื่องเซ็กซ์ เขาแบ่งกลุ่มพืชตามธรรมชาติของอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ระบบการจัดหมวดหมู่ของเขาก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธหรือโต้แย้งได้ ก่อนหน้าที่จะมีระบบลินเนียส การตั้งชื่อพืชเป็นไปในลักษณะที่ให้รายละเอียดขยายความยืดยาว และการตั้งชื่อที่ไม่สอดคล้องเป็นระเบียบ ลินเนียสแก้ปัญหาความวุ่นวายและสามารถนำมาใช้จัดระบบหมวดหมู่ เป็นที่ยอมรับของทุกคนได้เพราะความสามารถบอกลักษณะเด่นของแต่ละชนิดได้ งานตลอดชีวิตของ ลินเนียส คือ การปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องการจัดหมวดหมู่พืชและสัตว์ด้วยการแบ่งหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดตามลักษณะทางกายภาพ อนุกรมวิธาน ตลอดชีวิต ลินเนียสตั้งชื่อและบันทึกพันธุ์พืชและสัตว์ถึง 13,000 ชนิด คุณสมบัติที่มีอยู่ในงานของเขาที่ไม่มีใครเทียบได้ คือ ความสอดคล้อง เป็นระเบียบ เรียบง่ายและไม่มีวันล้าสมัย
ระบบของอนุกรมวิธานยังมีความสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับการแบ่งไฟลัมของสัตว์ มีความเข้าใจไม่ตรงกัน ในการแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกันในระดับโลก ได้มีการตั้งคณะทำงานที่มีชื่อว่า สมาคมอนุกรมวิธานพืชนานาชาติ (International Association for Taxonomy) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดปัญหาเรื่องชื่อไหนมาก่อนและชื่อไหนเป็นชื่อซ้ำ เราจะพบว่ามีการโต้เถียงและการจัดเรียงลำดับต้นแบบตัวเดียวกันใหม่ในอาณาจักรสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมด ดังนั้นการทำบัญชีรายชื่อจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ อย่างที่คิด เพราะเราไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรามีอยู่เท่าไร “ไม่รู้ แม้กระทั่งจำนวนที่ใกล้เคียงที่สุด” ตัวเลขที่ประเมินกันก็คือ ตั้งแต่ 3 ล้านถึง 200 ล้าน และจากรายงานในนิตยสาร The Economist กล่าวว่ายังมีชนิดของพืชและสัตว์อีกกว่า 97 เปอร์เซนต์คอยให้เราค้นพบ ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่เรารู้จัก มีมากกว่าร้อยละ 99 ที่เรามีเพียงรายละเอียดหยาบๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า นักอนุกรมวิธานที่ทำงานอยู่มีราว 10,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตที่ต้องจดบันทึกและที่สำคัญการขาดแคลนกำลังเงินและศักดิ์ศรี
ในปี 2001 เควิน เคลลี (Kevin Kelly) ตั้งองค์กรชื่อ มูลนิธิชนิดพันธุ์ (All Species Foundation) ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกและเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูล ด้วยเหตุผลหลักที่เรารู้จักสิ่งมีชีวิตบนโลกน้อยมาก 3 ประการ คือ
สิ่งมีชีวิตส่วนมากมีขนาดเล็กและมองเห็นยาก
ผู้เชี่ยวชาญน้อยเกินไป
โลกเราเป็นที่กว้างใหญ่ไพศาล