2/7/51

มาแล้วปรากฏการณ์ตะกั่ว


ในปี 1921โธมัส มิดกลีย์ จูเนียร์ นักประดิษฐ์ชาวโอไฮโอ ขณะที่กำลังทำงานให้กับบริษัทวิจัยของเจเนอรัลมอเตอร์ มีความสนใจประยุกต์ใช้เคมีในอุตสาหกรรม เขาพบว่า สารประกอบ เตตราเอทิลเลด ช่วยลดการสั่นของเครื่องยนต์ ที่เรียกว่าเครื่องน็อกได้อย่างดี ในต้นศตวรรษที่ 20 จะพบตะกั่วในสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด เช่นอาหารบรรจุในกระป๋องที่ปิดด้วยฝาตะกั่ว ถังเก็บน้ำเคลือบตะกั่ว การใช้ตะกั่วอาร์เนตฉีดพ่นบนผลไม้เพื่อฆ่าแมลง เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของยาสีฟัน และผสมลงในน้ำมันรถ เพราะตะกั่วนั้นสกัดและใช้งานง่าย ในปี 1923สามบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา คือ เจเนอรัลมอเตอร์ ดูปองต์ และสแตนดาร์ดออยล์ออฟนิวเจอร์ซีย์ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ เอทิลคอร์เปอเรชัน เพื่อผลิต เตตราเอทิลเลด ให้ได้มากที่สุด พวกเขาเรียกสารที่ใช้เติมไปในน้ำมันว่า เอทิล เพราะฟังดูเป็นมิตรและเป็นพิษน้อยกว่าตะกั่ว และนำเข้าสู่ตลาดการบริโภคของสาธารณชนด้วยวิธีการ หลากหลายกว่าที่คนส่วนใหญ่จะรู้เท่าทัน เกือบทันที่ที่ผลิต คนงานก็เริ่มเดินตุปัดตุเป๋และมีอาการเมาซึ่งเป็นอาการของพิษตะกั่วในระยะแรก แต่ทางบริษัทใช้นโยบายวางเฉย ชารอนเบิร์ต แมคเกรย์น (Sharon Bertsch Mcgrayne) เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เคมีเรื่อง Prometheans in the Lab ว่ามีลูกจ้างของโรงงานแห่งหนึ่งมีอาการประสาทหลอนแก้ไม่หาย แต่บริษัท ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเสียสติเพราะทำงานหนักเกินไป และมีคนงานตายในช่วงแรกของการผลิตน้ำมันที่มีสารตะกั่ว และอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ป่วย แต่มีการปิดข่าว แต่ครั้งที่ดังที่สุดคือ ปี 1924เมื่อคนงานในสายการผลิต ตายห้าคนติดต่อกันภายในเวลาไม่กี่วัน และอีกสามสิบห้าคนเสียการทรงตัว เมื่อมีข่าวลือเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นจนทำให้ โธมัส มิดกลีย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเตตราเอทิลเลด ก็ตัดสินใจสาธิตให้ผู้สื่อข่าวเห็น โดยการเท เตตราเอทิลเลดลงบนมือของตนเองและยกสารนั้นจ่อดมที่จมูกนาน 60วินาที เขาอ้างว่า
เขาสามารถทำสิ่งนี้ทุกวันโดยไม่มีอันตรายใดๆ เพื่อยั้บยั้งข่าวลือ แต่จริงๆแล้ว โธมัส มิดกลีย์ รู้ดียิ่งกว่าใครว่าพิษภัยของตะกั่วนั้นอันตรายแค่ไหน เขาเคยป่วยหนักเพราะสัมผัสกับตะกั่วมากเกินไป (สารตะกั่วเป็นสารพิษต่อระบบประสาท ถ้าได้รับมากเกินไป สมองและระบบประสาทส่วนกลางจะถูกทำลายถาวร อาการอื่นๆของการได้รับตะกั่วมากเกินไปก็คือตาบอด นอนไม่หลับ ไตวาย สูญเสียการได้ยิน มะเร็ง กล้ามเนื้อเป็นอัตพาตสั่นเกร็ง ผลที่เฉียบพลันที่สุดคืออาการประสาทหลอนและจะตายในที่สุด)
หลังจากประสบผลสำเร็จของน้ำมันใส่สารตะกั่ว ต่อมาในปี 1929 มีเหตุการณ์ตู้เย็นที่โรงพยาบาลในคลีฟแลนด์ รัฐโฮไอโอ เกิดรั่วซึมทำให้คนตายมากกว่าร้อยคนเพราะก๊าซที่บรรจุภายในนั้นอันตราย โธมัส มิดกลีย์ จึงหันมาสนใจที่จะสร้างก๊าซที่เสถียร ไม่ติดไฟ ไม่เป็นกรด และสูดดมได้ และเขาก็สามารถที่ประดิษฐ์คิดค้น สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ ที่เราเรียกกันว่า สาร CFC ขึ้นสำเร็จเป็นบุคคลแรก ทำให้ในต้นทศวรรษที่ 1930 สาร CFC เริ่มผลิตและค้นพบวิธีประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย เช่น แอร์รถยนต์ สเปรย์ดับกลิ่นกาย เป็นต้น หลังจากนั้นประมาณครึ่งศตวรรษมนุษย์จึงรู้ว่า การนำสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน มาใช้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีสักนิด เพราะมันทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หนึ่งกิโลกรัม สามารถจับและทำลายโอโซนในบรรยากาศได้ถึง 70,000 กิโลกรัม และ ยังแขวนลอยอยู่ได้นานประมาณหนึ่งศตวรรษโดยเฉลี่ย นอกจากนี้สาร CFC ยังเป็นตัวกักความร้อนที่ดีมากอีกด้วย สาร CFCหนึ่งโมเลกุลมีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกได้มากกว่าโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงหนึ่งหมื่นเท่า ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน สารประกอบ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ได้รับการพิสูจน์ขั้นสุดยอดว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษที 20แต่น่าเสียดายที่โธมัส มิดกลีย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเป็นไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่า สิ่งที่เขาประดิษฐ์คิดค้นมา ขณะนี้ส่งผลทำลายล้างต่อโลกใบนี้มากแค่ไหน เพราะเขาตายไปก่อนที่ใครๆจะตระหนักว่าสาร CFC มีผลต่อการทำลายโอโซนและสิ่งแวดล้อมในโลกมาเป็นเวลานาน และการตายของเขาก็เป็นเรื่องร่ำลือไม่ธรรมดาเพราะก่อนตายเขากลายเป็นคนง่อยและเขาก็ประดิษฐ์เครื่องมือที่มีมอเตอร์และรอกเพื่อช่วยยกหรือพลิกเขาเวลาอยู่บนเตียงได้โดยอัตโนมัติ แต่ต่อมาในปี 1944 เขาก็โชคร้ายเพราะเขาติดอยู่กับสายของเครื่องขณะที่เครื่องกำลังทำงาน จึงทำให้สายของเครื่องรัดคอเขาตายในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: