14/7/51

นักกะเทาะหิน
ในศตวรรษที่ 18-19 ผู้คนตื่นเต้นและสนใจใคร่รู้ในเรื่องธรณีวิทยากันมาก จนมีการก่อตั้งสมาคมธรณีวิทยาขึ้นมา เชิญติดตามประวัติและผลงานของนักธรณีวิทยาบางท่านดูนะคะ
เจมส์ ฮัตตัน(James Hutton) เกิดเมื่อปี 1726 ในครอบครัวชาวสก็อตที่มีฐานะดี เป็นคนที่ทีบุคลิกฉลาดเฉลียว คุยสนุก เป็นเพื่อนที่น่าคบ มีชีวิตอยู่อย่างหรูหรา มีความสนใจเกือบทุกสิ่ง แต่ที่สนใจเป็นพิเศษคือธรณีวิทยา
ในยุคนั้นมีผู้สนใจใคร่รู้ว่า เพราะอะไรเปลือกหอยโบราณและฟอสซิลสัตว์ทะเลอื่นๆถึงได้พบบ่อยครั้งบนยอดเขา ความคิดแบ่งเป็น 2 ฝ่าย กลุ่มเนปจูนิสต์ เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก รวมทั้งเปลือกหอยที่อยู่สูงลิบลิ่ว เป็นเพราะระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงและลงต่ำ พวกเขาเชื่อว่าภูเขา เนินเขา และสิ่งอื่นๆเก่าแก่เท่ากับโลก จะเปลี่ยนรูปก็ต่อเมื่อน้ำซัดสาดกัดเซาะในยุคที่น้ำท่วมโลก กลุ่มพลูโตนิสต์ เชื่อว่าภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหว คือตัวการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกอย่างต่อเนื่อง
ฮัตตันได้สังเกตว่า ดินเกิดจากก้อนหินผุกร่อน และอนุภาคของดินเหล่านี้ถูกชะล้างและพัดพาไปอย่างต่อเนื่องโดยลำธาร แม่น้ำ แล้วไปตกตะกอยอยู่ที่อื่น แต่เปลือกโลกไม่ได้ราบเรียบไปทั้งหมด แสดงว่าต้องมีกระบวนการอื่นอีก ต้องมีรูปแบบของการสร้างใหม่และยกขึ้น เป็นกระบวนการที่สร้างเนินเขาและภูเขาเพื่อให้วงจรนี้ดำเนินต่อไป เขาจึงคิดว่าฟอสซิลของสัตว์ทะเลบนยอดเขาถูกยกขึ้นไปพร้อมกับภูเขา เขาให้เหตุผลว่าต้องเป็นความร้อนภายในโลกที่สร้างหินและทวีปใหม่ๆขึ้นมาและผลักดันให้เกิดภูเขาต่อเนื่องเป็นแนว
เขาเขียนหนังสือออกมา 5 เล่ม แต่เป็นหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่อง หลังจากที่ฮัตตันตายได้ 5 ปี จอห์น เพลย์แฟร์ เพื่อนของเขาได้ทำหนังสืออธิบายความอย่างง่ายในหลักการของฮัตตันออกมา มีชื่อว่า lllustration of the Huttonain Theory of the Earth
โรเดอริก เมอร์ชิสัน (Roderick Murchison) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Silurain System ในปี 1839 เป็นเรื่องของหินทรายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เกรย์แวค(Greywacke) เป็นหนังสือขายดี ตีพิมพ์ถึง 4 ครั้ง ถึงแม้อยู่ในสไตล์อ่านไม่รู้เรื่องแบบฮัตตัน
สาธุคุณวิลเลียม บัคแลนด์(Reverend William Buckland) เป็นคนแปลก แต่มีเสน่ห์ เขาลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในบ้านและสวน ทั้งสัตว์ใหญ่และสัตว์อันตราย ชอบกินสัตว์แปลกๆ เช่น หนูบ้านทอด ตัวเฮดจ์ฮ็อกย่าง ปลิงทะเลต้ม เขาเป็นผู้นำในศาสตร์ที่เรียกว่า โคโพรไลท์(coprolite) หรือการศึกษาอุจจาระของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นฟอสซิล
เจมส์ พาร์กินสัน(James Parkinson) เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยา ชื่อ Organic Remains of a Former World (ยุคนี้ผู้คนจะรู้จักเขาในชื่อของโรคพาร์กินสัน ซึ่งยุคนั้นเรียกว่าโรคกล้ามเนื้อสั่น)
ชาร์ลส์ ไลเยลล์ ชาวสก็อต เป็นคนใฝ่รู้ที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ทำงานร่วมกับ วิลเลียม บัคแลนด์ ไลเยลล์ เป็นคนสายตาสั้นมากๆตลอดชีวิตต้องหรี่ตาเพ่งมองสิ่งต่างๆทำให้ขาดอากาศเข้าไปเลี้ยงลูกตา จนตาบอดในที่สุด งานจริงๆงานเดียวในชีวิตเขา คือ การเป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาที่คิงส์คอลเลจ ปี 1831-1833 และในช่วงนี้เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The principle of Geology รวม 3 เล่ม เป้นการรวบรวมและให้รายละเอียดแนวคิดของฮัตตันอย่างเป็นระบบ โดยศึกษางานของฮัตตันที่เขียนขึ้นใหม่โดยเพลย์แฟร์ หนังสือของเขาได้ตีพิมพ์ถึง 12 ครั้ง ในช่วงชิวิตของเขา
ระหว่างยุคของฮัตตันกัลไลเยลล์ เกิดข้อถกเถียงระหว่าง กลุ่มคาทาสโทรฟิสม์(catastrophism) กับยูนิฟอร์มิทาเรียนิสม์(uniformitarianism) กลุ่มคาทาสโทรฟิสม์เชื่อว่ารูปร่างของโลกเกิดจากหายนภัยอันรุนแรงและเฉียบพลัน ที่เชื่อกันมากคือน้ำท่วม กลุ่มพระอย่างบัคแลนด์จะชอบคาทาสโทรฟิสม์มาก เพราะมันสอดคล้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในยุคของโนอาห์ในไบเบิ้ล กลุ่มยูนิฟอร์มิทาเรียนิสม์เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นค่อยเป็นค่อยไป กระบวนการเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นช้าๆต้องใช้เวลายาวนานมาก ฮัตตันอาจเป็นบิดาของความเชื่อนี้มากกว่าไลเยลล์ แต่คนส่วนมากอ่านงานของไลเยลล์ ทุกคนจึงคิดว่าเขาคือบิดาแห่งธรณีวิทยายุคใหม่
ไลเยลล์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกมีรูปแบบเดียวและคงที่ ทุกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน เขาไม่สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า แนวสันเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และไม่ยอมรับแนวความคิดของอกาสซิส เรื่องยุคน้ำแข็ง ไม่เชื่อว่าธารน้ำแข็งเป็นตัวการทำให้เปลือกโลกเปลี่ยนแปลง เขาปฏิเสธความคิดที่ว่าสัตว์และพืชต่างสูญพันธุ์ในเวลาอันสั้นเพราะความหนาวเย็น และเชื่อว่าสัตว์สำคัญๆในโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน ปลา และอื่นๆ ล้วนดำรงอยู่มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งความคิดทั้งหมดนี้พิสูจน์ได้แล้ว่าผิด
นักธรณีวิทยาพยายามแยกแยะชั้นหินโดยใช้ช่วงเวลาที่มันเกิด จึงเกิดข้อโต้แย้งอันยาวนานรู้จักกันดีในชื่อข้อโต้แย้งดีโวเนียนอันยิ่งใหญ่(Great Devonian Controverdy) เมื่อสาธุคุณอดัม เซดจ์วิก แห่งเคมบริดจ์ อ้างว่าชั้นหินที่เมอร์ชิสันเชื่อว่าอยู่ในยุคไซลูเรียน(ราว 405-425 ล้านปีมาแล้ว) ที่จริงแล้วอยู่ในยุคแคมเบรียน(ราว 500-544 ล้านปีมาแล้ว) การต่อสู้ทางความคิดได้ยุติลงด้วยการตั้งยุคใหม่ขึ้นมา คือยุคออร์โดวิเชียน(ราว 425-500 ล้านปีมาแล้ว) แทรกระหว่างยุคไซลูเรียนและแคมเบรียน ทุกวันนี้มีการแบ่งยุคทางธรณีวิทยาออกเป็น 4 มหายุค(era) คือ พรีแคมเบรียน พาลีโอไอโซอิก เมโสโซอิก ซีโนโซอิก และทั้ง 4 มหายุค ยังแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ เช่น ยุคครีเตเชียส จูราสสิค ไตรแอสสิค ไซลูเรียน และอื่นๆ
นักธรณีวิทยาสมัยนั้นพยายามคิดหาวิธีคำนวณอายุของโลก และได้นำเสนอแนวความคิดหลายอย่าง แต่ไม่มีใครยอมรับ แม้แต่ลอร์ดเคลวินผู้ยิ่งใหญ่(William Thomson) ซึ่งเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง ก็ไม่สามารถคำนวณหาอายุที่ถูกต้องของโลกได้

ไม่มีความคิดเห็น: