2/1/52

องค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์

ในการศึกษาวิจัย มักจะต้องอ้างถึงวรรณกรรม หรืองานวิจัย หรือบทความที่เกี่ยวข้อง ที่ได้จากงานที่เกิดจากผู้สร้างสรรค์หรือผู้คิดค้นที่มีการได้รับความคุ้มครองจากกฏหมายลิขสิทธิ์ การนำงานอื่นใดมาอ้างถึงสามารถนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสม ต้องคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมตามกฏหมายของเจ้าของและต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์หรือขัดผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบ ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือแหล่งที่มาด้วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งความรู้ เป็นการเพิ่มพูนสติปัญญา มีความรู้ความสามารถในการทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงต้องมีความเข้าใจในการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน ดังนี้
กฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เป็นกฏหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้สร้างสรรค์เหล่านั้น ประเทศไทยมีกฏหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ต่อมาแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ตามลำดับ
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิในฐานะผู้สร้างสรรค์หรือเป็นเจ้าของโดยรับโอน เพื่อจะทำการใดๆเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
ผู้สร้างสรรค์ หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงาน โดยใช้ความคิดริเริ่มของตนเอง เช่น นักแต่งเพลง กวี จิตรกร ศิลปิน นักประพันธ์ นักออกแบบ ประติมากร และสถาปนิก เป็นต้น
งาน หมายถึง งานสร้างสรรค์ เช่น วรรณกรรม ภาพยนต์ งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปศาสตร์ เป็นต้น
วรรณกรรมที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานเขียน แต่งทุกชนิด หนังสือ สิ่งพิมพ์ สิ่งเขียน จุลสาร สุนทรพจน์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศัย สิ่งบันทึกเสียง และภาพ
ศิลปกรรมที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หุ่นจำลอง รวมทั้งงานศิลปะประยุกต์ ดนตรี โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
ขอบเขตและอายุการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีดังนี้
งานที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมด ผู้ใดจะทำซ้ำหรือดัดแปลง เช่น คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา บันทึกเสียง บันทึกภาพ นำออกเผยแพร่โฆษณา หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เปลี่ยนรูปใหม่ ทำสำเนาบางส่วนหรือทั้งหมด จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน
อายุการคุ้มครองจะมีตลอดชีวิตของเจ้าของลิขสิทธิ์ และอีกห้าสิบปีหลังจากผู้สร้างสรรค์ได้ตายไปแล้ว ผู้ละเมิดมีโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือถ้าเป็นการค้า ปรับสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ข้อยกเว้น ในกรณี
1. นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัย เช่นนำไปอ้างอิงในการเขียนรายงาน การวิจัย เป็นต้น
2. นำใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือในครอบครัวหรือญาติมิตร เช่นซื้อแถบบันทึกเสียงไปเปิดฟังในบ้าน ซื้อหนังสือไปอ่าน อัดสำเนาเสียงเพลงลงแถบบันทึกไว้ฟังในบ้าน เป็นต้น
3. นำไปติชมวิจารณ์ โดยแสดงที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานนั้นๆ
4. เสนอรายงานข่างทางสื่อสารมวลชนโดยบอกที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานนั้นๆ
5. นำไปทำซ้ำ แปล หรือแลง หรือนำออกแสดง เช่นจัดนิทรรศการเพื่อประโยชน์ในการสอน
6. คัดลอก ทำสำเนา ดัดแปลงส่วนของงาน หรือตัดทอนทำบทสรุปตามจำนวนที่จำเป็นเพื่อการเรียนการสอน
7. นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการถามและตอบในการสอบ
8. การกล่าว คัด ลอก เลียนหรืออ้างอิงงานบางตอน ตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีการรับรู้ถึงเข้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นๆไม่ให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Utility Model) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของสิทธิบัตร มีสิทธิเด็ดขาด หรือสิทธิแต่เพียงผู้เดี่ยว ในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น เช่น การผลิตและจำหน่าย เป็นต้น สิทธิที่ว่านี้จะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่งเท่านั้น
การประดิษฐ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิภัณฑ์เกิดความสวยงาม และแตกต่างไปจากเดิม
เหตุผลในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร
1 เพื่อคุ้มครองสิทธิบัตรอันชอบธรรมของผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบเนื่องจากผู้ประดิษฐ์หรือผู้ส่งออกแบบได้ใช้สติปัญญา ความพยายาม เวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ สามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจหรือในเชิงพาณิชย์
2 เพื่อให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบ เพราะผลจากการคิดค้นช่วยให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ป้องกันมิให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์จากผลงานดังกล่าวนั้น
3 เพื่อจูงใจให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆขึ้น เป็นการกระตุ้นให้นักประดิษฐ์คิดค้นมีกำลังใจและมีความมั่นใจ ในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จนสำเร็จ
4 เพื่อกระตุ้นให้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ จนทำให้สามารถนำไปศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น
5 เพื่อจูงใจให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มีความมั่นใจในการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ร่วมทุนในประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: